in Movies

Green Book

ชอบ Mahershala Ali มาตั้งแต่แกเป็นล็อบบี้ยิสต์ใน House of Card พอช่วงหลังเล่นหนังใหญ่จนได้ออสการ์มา 2 เรื่องคือ Moonlight (2016) และ Green Book (2018) เลยต้องตามไปดูสักหน่อย

Green Book เป็นหนัง road movie ที่พูดถึงประเด็นเรื่องการแบ่งแยกสีผิวของอเมริกาได้อย่างน่าสนใจมาก (แถมสร้างจากเรื่องจริง)

หนังจับความอเมริกาปี 1962 ที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกมาไม่นานมาก และอยู่ในยุคสงครามเย็น แต่สังคมอเมริกาเองก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านต่อมุมมองเรื่องการแบ่งแยกสีผิว (Jim Crow Law ที่ห้ามคนดำขึ้นรถหรืออยู่ร่วมกับคนขาว)

ตัวเอกของ Green Book ที่ต้องร่วมทริปกันเป็นอเมริกันชนจากนิวยอร์ก 2 คนคือ

Tony Lip “กุ๊ย” ที่ตกงานจากอาชีพเฝ้าผับ ด้วยสถานะทางการเงินที่บีบคั้น ขาดรายได้ เขาจึงต้องยอมรับงานเป็นคนขับรถลงภาคใต้ของอเมริกา (Deep South) ชีวิตของ Tony Lip มีความเป็นคนชั้นล่างอยู่เยอะ พูดจาติดหยาบคาย ออกหมัดไวเสมอ กินอาหารแล้วโยนขยะลงพื้น แต่ก็มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและรักครอบครัวอย่างมาก

Don Shirley นักดนตรีไฮโซผู้ได้ปริญญาเอกกิติมศักดิ์หลายใบ (และมีคำว่า Doctor นำหน้าชื่อ) เขาเป็นนักเปียโนอัจฉริยะ คบหาเพื่อนฝูงในแวดวงสังคมชั้นสูงของนิวยอร์ก และอาศัยอยู่ที่ชั้นบนของคาร์เนกี้ฮอลล์ ดินแดนในตำนานของนักดนตรีทั่วโลก

ทั้งสองคนต้องเดินทางร่วมกัน เพื่อพา Shirley ไปแสดงดนตรีตามเมืองต่างๆ ในรัฐทางภาคใต้ ที่ยังคงธรรมเนียมการแบ่งแยกผิวสีอย่างสูง (กฎหมาย Jim Crow ถูกเลิกในปี 1965 หลังเหตุการณ์ในหนังเล็กน้อย) คนดำต้องเข้าพักในโรงแรมเฉพาะของคนดำเท่านั้น (ซึ่งเก่าและสกปรก) ไม่สามารถกินข้าวปะปนกับคนขาวได้ หรือในบางเมืองอาจถึงขั้นไม่ต้อนรับคนดำเลยสักนิด และอาจลงมือทำร้ายกันด้วย (sundown town เมืองที่ห้ามคนดำอยู่ค้างข้ามคืน)

คนดำในยุคนั้นจึงต้องพึ่งพาไกด์บุ๊กที่บอกว่า คนดำนอนพักที่ไหนได้บ้าง กินข้าวที่ไหนในแต่ละเมือง ซึ่งไกด์บุ๊กที่โด่งดังคือ The Negro Motorist Green Book เขียนโดยคนดำที่ชื่อ Victor Hugo Green และเป็นที่มาของชื่อหนัง Green Book ซึ่งหมายถึงไกด์บุ๊กที่คนดำต้องใช้เนื่องจากถูกแบ่งแยก (โดยไม่เต็มใจ) นั่นเอง

เรื่องนี้จะไม่มีความน่าสนใจเลย หากเป็นเรื่องของนักดนตรีไฮโซผิวขาว นอนพักในโรงแรมหรู โดยมีคนขับรถผิวดำแยกไปนอนที่โมเต็ลเล็กๆ ในตอนกลางคืน

แต่ใน Green Book (ซึ่งนำมาจากเรื่องจริง) กลับทิศเรื่องราวกัน กุ๊ยที่มาจากชนชั้นล่างอย่าง Tony กลับเป็นคนขาว (เขาเป็นอิตาเลียนในนิวยอร์ก) ในขณะที่นักดนตรีไฮโซแบบ Don เป็นคนดำ

เราจึงเห็นการเผชิญสถานการณ์ยากลำบากของ Don ในหลายต่อหลายครั้งที่เขาต้องไปนอนโมเต็ลราคาถูก หรือต้องกินข้าวในห้องเก็บของคนเดียว ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ในงานแสดงวันสุดท้ายที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง Don จะต้องแสดงในร้านอาหารใหญ่ ขึ้นเวทีอย่างสง่างาม ได้จอดรถขวางหน้าบันได แต่พนักงานที่ร้านกลับปฏิเสธไม่ให้เขานั่งกินอาหารร่วมโต๊ะกับ Tony ในห้องอาหารเดียวกับที่เขาจะต้องขึ้นแสดง (อย่างสมเกียรติ) นั่นเอง

ถึงแม้หนังจะเล่นประเด็นยากๆ อย่างเรื่องการแบ่งแยกสีผิว แต่วิธีการเล่าของหนังก็ไม่ได้ทำให้เรากระอักกระอ่วนใจมากนัก (เทียบกับหนังเล่นประเด็นสีผิวเหมือนกัน อย่าง Django Unchained ที่มีฉากลงโทษหรือทรมานทาสผิวดำอย่างโหดร้ายทารุณ) ภาพรวมของหนังเป็นหนัง feel good ที่พูดเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างสองตัวเอกที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน ดังเช่นหนัง road movie ทั่วๆ ไป

เราจึงเห็น Tony เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่าง “มีอารยะ” มากขึ้น ใช้ภาษาที่สวยงามเขียนจดหมายถึงภรรยา ในขณะที่ Don ก็ปรับตัวให้ผ่อนคลายมากขึ้น เข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น ปลดล็อคข้อจำกัดของตัวเองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารด้วยมือ หรือการเล่นเปียโนให้สนุกแบบที่เขาต้องการ

Green Book เป็นการแสดงให้เห็นว่า หนังที่ประเด็นดี บทดี และบวกกับนักแสดงดี ก็กลายเป็นหนังที่ออกมาดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโปรดักชัน หรือจำนวนตัวละครมากนัก ทั้งเรื่องเราแทบเห็นแต่ฉากของ Tony และ Don เพียงสองคน โดยที่ไม่ค่อยมีตัวประกอบอื่นๆ มีบทบาทสักเท่าไร

Mahershala Ali แสดงเป็น Don Shirley คนดำอัจฉริยะที่เกิดมาผิดยุคสมัยได้อย่างยอดเยี่ยม (สมกับได้ออสการ์) ในขณะที่ Tony Lip ได้ Viggo Mortensen ลอร์ดอารากอนแห่ง The Lord of the Ring ที่หน้าตาเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ (เขาต้องอ้วนขึ้นประมาณ 20kg เพื่อมารับบทนี้) และเล่นได้เป็น “กุ๊ย” ชาวอิตาเลียนอย่างสมจริง (Mortensen จริงๆ แล้วเป็นคนเชื้อสายไอริช)

ป.ล. หลังเหตุการณ์ในเรื่อง Tony Lip มีโอกาสได้พบกับ Francis Ford Coppola ที่ไนท์คลับ Copacabana ที่เขาทำงานอยู่นั่นเอง และราว 10 ปีหลังจากนั้น (1972) เขาก็ได้เล่นเป็นตัวประกอบใน The Godfather ก่อนไปเล่นหนังแนวมาเฟียอีกหลายเรื่อง