Godzilla ฉบับปี 2023 และถือเป็นภาคล่าสุดของ Godzilla ฝั่งญี่ปุ่นในตอนนี้ หลังสร้างชื่อจากการชนะรางวัล Best Visual Effects ในเวทีออสการ์ พอมาลง Netflix เลยถือโอกาสมาดูสักหน่อย
ออกตัวว่าไม่ใช่แฟนของ Godzilla และเอาเข้าจริงดูภาคเก่าๆ มาน้อยมากๆ แต่เนื้อหาของภาค Minus One เองก็เป็น standalone ไม่ยุ่งเกี่ยวกับภาคไหนอยู่แล้ว และไม่มีมอนสเตอร์ตัวอื่นมายุ่งเกี่ยวด้วย (เหมือนกับภาค Shin Godzilla ปี 2016)
Godzilla Minus One มีความแปลกใหม่หลายอย่าง ทั้งการเลือกยุคสมัยเป็นญี่ปุ่นหลังสงครามโลก (เหตุการณ์ในหนังเกิดปี 1947) และการใช้ผู้กำกับ “คนนอก” อย่าง Takashi Yamazaki ที่เพิ่งเคยมาทำแฟรนไชส์นี้เป็นครั้งแรก ทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างออกไป (เขาคือคนที่เคยกำกับ Dragon Quest: Your Story และ Always: Sunset on Third Street)
Yamazaki จึงนำสิ่งที่เขาถนัดและสนใจ ทั้งเรื่องโลเคชั่นย้อนยุค, เรือรบยุคสงคราม (จาก The Great War of Archimedes) และความเชี่ยวชาญด้านการทำ visual effect มาผสมผสานกันออกมาเป็น Godzilla Minus One ได้อย่างน่าสนใจ
ไฟรักไฟสงคราม
เนื้อหาของ Godzilla Minus One เล่าเรื่องของพระเอก Kōichi Shikishima นักบินเครื่องบินรบ Kamikaze ที่ไม่มีโอกาสพลีชีพเพื่อชาติ เพราะระหว่างรอพักซ่อมเครื่องบินในเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก (เกาะ Odo ซึ่งเป็นเกาะสมมติ) ก็โดน Godzilla บุก ฆ่าเพื่อนทหารของเขาไปเกือบหมด แต่เขารอดมาได้
หลังจากนั้น Shikishima กลับมายังแผ่นดินญี่ปุ่นยุคแพ้สงคราม พ่อแม่ตายหมด เขาได้ช่วยหญิงสาวชื่อ Noriko และทารกชื่อ Akiko ไว้โดยบังเอิญ ทั้งสามกลายมาเป็นคนอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน โดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดเลย
30 นาทีแรกของหนัง ถ้าไม่มีฉาก Godzilla โผล่มาอาละวาดเล็กน้อย ดูแล้วต้องบอกว่ามันเป็นหนังไฟรักไฟสงครามชัดๆ เพราะกลายเป็นหนังเศร้า รักโรแมนติกท่ามกลางบรรยากาศหดหู่หลังแพ้สงคราม ทุกคนมีบาดแผลแต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน ชายหนุ่มหญิงสาวที่ไม่รู้จักกันมาก่อนอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน โดยมีเด็กทารกเป็นแกนกลาง ค่อยๆ ผูกพันกันและรักกัน…
ตกลงนี่มันหนังสัตว์ประหลาดหรือรักย้อนยุคกันแน่!
แต่นี่แหละคือ “แก่น” ของ Godzilla Minus One โดยผู้กำกับ Yamazaki ให้ความหมายของคำว่า Minus One (หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่นเขียน -1.0) ในชื่อภาคว่ามี 2 ความหมาย
- เหตุการณ์เกิดก่อน Godzilla ภาคแรกสุด (1957) ของภาคนี้คือเกิดปี 1947
- ญี่ปุ่นแพ้สงคราม เหมือนเป็น Set Zero คือทุกอย่างเหลือศูนย์ เริ่มต้นใหม่หมด แต่โดน Godzilla มาถล่มซ้ำ เลยกลายเป็น -1
ธีมหลักของ Godzilla Minus One จึงเป็นเรื่อง redemption การรักษาแผลใจของตัวละครหลักๆ จากบาดแผลเดิมในสงคราม ผ่านการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอันใหม่ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ Godzilla บุกโตเกียว
ฉากที่น่าสนใจคือตอนที่เหล่าอดีตทหารเรือ กะลาสีเรือมารวมตัวกันวางแผน แล้วมีการพูดขึ้นมาว่า ประเทศนี้เคยทอดทิ้งพวกคุณตอนสงคราม ให้อาวุธ เสบียงอาหารไม่เพียงพอ ปล่อยให้เราต้องหิวและป่วยตายในสงคราม ตรงนี้ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า หนังก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสงครามหรือรัฐบาลญี่ปุ่นในตอนนั้น แต่เป็นการวิพากษ์ และเล่าเรื่องบาดแผลจากสงครามที่กระทำต่อชาวญี่ปุ่นทั่วๆ ไป
วิทยาศาสตร์กับ Godzilla
Godzilla Minus One ออกแบบมาให้ Godzilla ของภาคนี้แข็งแกร่ง มี G-cell ที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ในหมู่เกาะ Bikini สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ การใช้อาวุธธรรมดาจึงไม่สามารถเอาชนะ Godzilla ได้ ทางออกของหนังภาคนี้จึงต้องสู้ด้วยวิทยาศาสตร์ ที่นำเสนอโดย Noda วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ในเรื่อง
แนวคิดของ Noda คือ
- ล่อ Godzilla ไปที่อ่าว Sagami Bay ทางใต้ของโตเกียว ซึ่งมีร่องน้ำลึก Sagami Trench ประมาณ 1,500 เมตร ลึกกว่าทะเลทั่วไปมาก
- ทำให้ Godzilla จมน้ำ ด้วยการปล่องฟองรอบๆ ตัวไล่น้ำออกจากตัว Godzilla เพื่อให้แรงลอยตัวของน้ำ (buoyancy) ไม่สามารถช่วยพยุง Godzilla ได้ (ภาคนี้ Godzilla ว่ายน้ำได้ชัดเจน)
- Godzilla จะตกลงไปในช่องน้ำลึกอย่างรวดเร็ว และถูกความดันน้ำลึกบีบอัดอย่างรวดเร็ว (1500m ประมาณ 150 bar/atm) จน Godzilla ปรับตัวไม่ทัน
- ถ้ายังไม่ตาย ยังมีแผนสองคือ จะเอาชูชีพใส่ไว้กับตัว Godzilla ด้วย พอลงน้ำลึกสุดแล้วจะให้ชูชีพพองตัวออก เพื่อดึง Godzilla กลับมาที่ผิวน้ำอย่างรวดเร็วอีกเหมือนกัน (เปลี่ยนแปลงความดันฉับพลัน 2 รอบ)
หลังจากดูจบแล้ว ผมต้องไปนั่งหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า แนวทางของ Noda มันเป็นไปได้จริงแค่ไหน และพบว่ามีกระทู้ถกกันถึงเรื่องนี้ใน Reddit
เหตุผลที่ต้องใช้ก๊าซ Freon (อันเดียวกับที่ใช้ในตู้เย็น) มาเป็นฟองล้อมตัว Godzilla ไว้ มีคนอธิบายว่าเป็นเพราะมันหนาแน่นกว่าอากาศ สามารถอัดแก๊สลงไปในถังเพื่อปล่อยฟองล้อม Godzilla ได้เยอะกว่า อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการใช้ฟองหุ้มวัตถุเพื่อให้จม (Bermuda Triangle Hypothesis) ก็ไม่ชัดเจนนักว่าการปล่อยฟองไม่เยอะนักแบบในหนัง (ไม่ใช่การเอาฟองใหญ่ๆ ไปหุ้มไว้ทั้งตัว) มันจะได้ผลแบบนั้นจริงๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การปล่อยชูชีพที่ความลึก 1500m มีแรงดันน้ำมหาศาล ชูชีพจะไม่เด้งออกมาได้ง่ายๆ อีกเหมือนกัน เว้นเสียแต่ว่าในห่อชูชีพมีแรงดันที่เหนือกว่าในน้ำ ซึ่งอาจเป็นไปได้หากมีวัสดุที่แข็งแรงพอจนทำห่อชูชีพที่ทนแรงดันระดับนั้นได้
ดังนั้นในภาพรวมแล้ว วิธีการฆ่า Godzilla ของภาค Minus One ดูเหมือนจะเป็นไปได้จริงๆ แต่เอาเข้าจริงก็น่าจะทำได้ยากในทางปฏิบัติ ถือซะว่าเป็นหนังสนุกๆ ไม่ต้องคิดมากก็แล้วกัน
วิชวลเอฟเฟคต์ของ Godzilla Minus One
เราคงไม่พูดถึงเรื่อง visual effect ของ Godzilla Minus One ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชนะออสการ์
หลังจากชนะออสการ์แล้ว ทางทีมผู้สร้างก็ได้ปล่อยคลิปเบื้องหลังการสร้าง visual effect ของหนังมาให้ดูกัน
- ทีม visual effect เล็กมาก 35 คน กับหนังสเกลนี้ ใช้เวลาทำงาน 8 เดือน
- ผู้กำกับ Yamazaki ลงมาคุมงานเอง
- ใช้เทคนิคการถ่ายฉากจำลองแบบดั้งเดิม + ดิจิทัลผสมผสานกัน
- เนื่องจากงบน้อยมากๆ การถ่ายฉากจำลองจึงต้องครีเอทีฟมากๆ อย่างฉากบนเรือ (ที่มีเยอะมากในเรื่อง) ของจริงมีฉากแค่อันเดียว เรือทุกลำจึงต้องมาใช้ราวโซ่อันเดียวกันนี้ 555 หรือการที่ไม่มีไฮโดรลิกช่วยเขย่าฉาก จึงต้องเขย่ากล้องเอา + ให้นักแสดงแอคติ้งแทน สร้างสรรค์มากๆ
ในภาพรวม Godzilla Minus One ถือว่าสนุกใช้ได้เลย หนังมีมิติความลึกเรื่องบาดแผลจากสงคราม เอามาผนวกกับฟอร์แมตหนังสัตว์ประหลาดไคจู และหนังวิกฤตกู้โลกสไตล์ฮอลลีวู้ด พล็อตรวมถือว่าเจ๋ง แม้มีพล็อตหลุดๆ รั่วๆ นิดหน่อยแต่ก็เป็นจุดเล็กๆ ซะเยอะ ส่วนวิชวลเอฟเฟคต์ทำได้เจ๋งดี (ยิ่งถ้าได้มาดูคลิปเบื้องหลัง)
ให้คะแนน 8/10