in Politics

ทำไมเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์แพ้

ผลการเลือกตั้ง 2562 มีความน่าสนใจหลายประการ ณ เวลาที่เขียน (เช้าวันที่ 25 มีนาคม) ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการของ กกต. ยังไม่ออก แต่คิดว่าตัวเลขเบื้องต้นก็น่าจะพอให้เห็น “ภาพรวม” ของการเลือกตั้งครั้งนี้

การวิเคราะห์ละเอียดคงต้องดูคะแนนกันเป็นรายเขต (หรือแม้กระทั่งรายหน่วย) ดังนั้น ขอวิเคราะห์แบบหยาบๆ ไปก่อนดังนี้

  • ภาพรวมของการเลือกตั้ง 62 คือ “พรรคใหญ่คะแนนลด พรรคเล็กคะแนนเพิ่ม” ซึ่งตรงกับที่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญได้ design ไว้ตั้งแต่แรก (ถือว่า success!)
    • กฎข้อสำคัญที่มีผลมากคือการรวบบัตรเหลือใบเดียว ทำให้วิธีการออกเสียงเปลี่ยนไป จากเดิมที่คนคิดเรื่องเขต-ปาร์ตี้ลิสต์แยกกัน ก็ต้องมาคิดรวมกัน ซึ่งจบลงที่การแบ่งคนเป็น 2 ประเภทคือ เลือกตามเขตเป็นหลัก และเลือกตามพรรคเป็นหลัก
  • กรณีของพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้คะแนนเยอะแบบ surprise มาก (ก่อนเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ คนของอนาคตใหม่ยังคุยกับผมอยู่เลยว่าจะได้ ส.ส. เขตมั้ย) อันนี้วิเคราะห์ง่ายที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด
    • เกิดเพราะกลุ่มคนที่เลือกตามพรรคเป็นหลัก ซึ่ง “ส่วนใหญ่” ก็มักเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ให้คุณค่ากับอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ (e.g. ประทับใจนโนบายบางอย่าง หรือ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง)
    • แต่เมื่อคนเหล่านี้มีเยอะพอ บวกกับ ส.ส. ในบางพื้นที่ทำผลงานดี ย่อมทำให้คะแนนบางพื้นที่เยอะจนชนะเขตตามไปด้วย
    • ในแง่นี้ก็ต้องยินดีกับพรรคด้วยที่ทำผลงานได้ดีมากๆ และขอให้ขยายผลต่อไป ตามความตั้งใจที่จะเป็นพรรคในระยะยาว
  • ต่อมาเป็นกรณีของ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประสบภาวะคล้ายๆ กันคือโดนดึงเสียงไปมาก ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยที่เหมือนกัคือ
    • อนาคตใหม่ ดึงเสียงในเชิงอุดมการณ์ **ไปจากทั้งสองพรรค** ตรงนี้เป็นเรื่องที่คงต้องคุยกันยาวๆ ในรายละเอียดต่อไป
    • พลังประชารัฐ ดึงเสียงจาก ส.ส. พื้นที่ โดยการดูดอดีต ส.ส. เดิมจากทั้งสองพรรค และยังประสบความสำเร็จ สอบได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง เหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก
  • ส่วนปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่าง พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ คิดว่ามีประเด็นดังนี้
    • พรรคเพื่อไทย เดินเกมพรรคไทยรักษาชาติพลาด จากที่ลองดูสถิติเก่า ทษช. มีอดีต ส.ส. เขต 4 คน และอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่ออีกสิบกว่าคน (ส่วนใหญ่เป็นสายเสื้อแดง-นปช. ด้วย) การที่ ทษช. โดนยุบพรรคไปโดยเพื่อไทยไม่สามารถหา ส.ส. มาแทนได้ทัน (อย่าลืมว่า เพื่อไทยรอบนี้ส่งแค่ 250 เขต) จึงเสียคะแนนทั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ไปพอสมควร (ประเมินเองคร่าวๆ คือ 10-20 ที่)
    • พรรคประชาธิปัตย์ น่าสนใจกว่ามาก เพราะเสียเสียงใน กทม. ไปแทบทั้งหมด (รอตัวเลข official) น่าจะเป็นกรณีเรื่องอุดมการณ์ของพรรค พปชร. ที่มาแย่งฐานเสียงเดิมไปเยอะมาก
      • ข้อสันนิษฐานของผมคือ ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์คือคนเมือง ที่แนวคิดค่อนข้าง conservative และไม่เอาพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจาก ปชป.
      • แต่พอเจอ พปชร. ที่อุดมการณ์ลักษณะเดียวกัน แต่ชัดเจนกว่า แรงกว่า (เป็นขวาที่ขวากว่า ปชป.) คนเหล่านี้จึงเทไปยัง พปชร. แทน (ตรงกับแนวโน้มการเมืองทั่วโลกที่ radical ขึ้นทั้งซ้ายและขวา) แต่เพราะเหตุใดจึงเทไปเยอะขนาดนี้ เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปอีกมาก
  • ภาพรวมคิดว่า พท. และ ปชป. เจอปัญหาเดียวกัน คือ โมเดลการเมืองแบบเดิมๆ ที่ยึดปฏิบัติมา กลับใช้งานไม่ออกแล้ว พ่ายแพ้ทั้ง “สองนครา”
    • ต่างจังหวัดที่ยังเน้นตัวบุคคลของ ส.ส. เขต แพ้พลังดูด พปชร. (realpolitik)
    • ในเขตเมืองที่เน้นอุดมการณ์ แพ้อนาคตใหม่ (และกรณีของ ปชป. ใน กทม. ก็แพ้อุดมการณ์ พปชร. อีกเด้ง คือเป็น 3 เด้งเลย แทบสูญพันธุ์)
    • หมายเหตุ: ส่วนคนคิด “สองนครา” แพ้ไปนานแล้ว อิอิ
  • อันที่ค่อนข้าง surprise คือ ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ ส.ส. เยอะมาก ก็เป็นด้านกลับของ พท. กับ ปชป. ที่เขียนถึงไปแล้ว นั่นคือ ประสบความสำเร็จทั้งจาก ส.ส. เขต ด้วยพลังดูดและพลังอุดมการณ์, แถมเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์ได้จากกติกาใหม่ด้วย
  • อันที่ surprise กว่าคือ ภูมิใจไทย ที่มาเงียบๆ แต่ได้คะแนนเยอะไม่น้อย เคสของภูมิใจไทย ผมคิดว่ามีเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองน้อยมาก น่าจะมาจากพลังของ ส.ส. พื้นที่ล้วนๆ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้มากนัก ไว้ดูตัวเลขอย่างเป็นทางการก่อน
  • การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่คิดว่านี่เป็น wake up call ครั้งสำคัญไปยังแกนนำของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ว่าตอนนี้ถึงเวลาปรับตัวครั้งใหญ่แล้ว
    • ข้อเสนอของผมต่อพรรคประชาธิปัตย์คือ กรรมการบริหารพรรคต้องลาออกทั้งชุด และประกาศไม่เข้ามารับตำแหน่งอีก เปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามาปฏิรูปพรรคอย่างจริงๆ จังๆ
    • ข้อเสนอต่อพรรคเพื่อไทยก็คล้ายๆ กัน แต่อาจทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้มากกว่า และต้องหาวิธีบริหารทรัพยากรบุคคลที่หลุดไปอยู่ในฝั่ง ทษช. ด้วยว่าจะทำอย่างไรต่อไป (ใจจริงคืออยากให้แก๊ง ทษช. แยกพรรคใหม่ออกมาให้ขาดกันเลย แล้วมาแข่งกันในสนามเลือกตั้ง)

ภาพประกอบจาก Medium @Abhisit