ถัดจาก Inglourious Basterds ก็มาสู่ Django Unchained หนังคาวบอยเรื่องแรกของ Tarantino ที่ฉายเมื่อปี 2012 (หลังจากนั้นแกไปทำเรื่อง The Hateful Eight ต่อในปี 2015)
ผมเคยพยายามดู Django Unchained มาก่อนแล้วบนเครื่องบิน แต่ตอนนั้นดูแล้วหลับ 555 เลยพยายามมาดูใหม่อีกรอบ หนังยาวตั้งเกือบ 3 ชั่วโมง (165 นาที) ใช้เวลาดูประมาณ 3 วันกว่าจะจบ
Django Unchained ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังคาวบอยคลาสสิกเรื่อง Django ของผู้กำกับชาวอิตาเลียน Sergio Corbucci เมื่อปี 1966 ซึ่งดังถึงระดับที่ทำให้เกิดหนังชื่อ Django ตามมาอีกมาก (ที่ Corbucci แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย)
Django Unchained เกิดขึ้นเพราะ Tarantino เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Corbucci และเกิดปิ๊งไอเดียทำหนังคาวบอยขึ้นมาพอดี เลยนำชื่อมาใช้โดยที่เนื้อเรื่องไม่มีความเกี่ยวข้องกัน (มี Franco Nero คนที่เล่นเป็น Django ต้นฉบับ มาปรากฏตัวใน Django Unchained ด้วยนิดหน่อย)
การตีความของ Tarantino ถือว่าแหลมคมมากทีเดียว เพราะ Django เวอร์ชันต้นฉบับย่อมเป็นคาวบอยคนผิวขาว แต่ Django คนใหม่คือคาวบอยผิวดำ ในภาคใต้ของอเมริกายุคที่ทาสผิวดำในไร่ฝ้ายไร่อ้อยเฟื่องฟู และมีการกดขี่ทาสอย่างโหดร้ายทารุณ ตัวเอก Django ที่ปลดโซ่ตรวน (unchained) จึงต้องมาเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากๆ ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมสีผิวของเขาเอง
ดังนั้น แกนหลักของ Django Unchained คือการพูดประเด็นที่ยากๆ อย่างเรื่องการกดขี่ทาสผิวดำในอดีต แต่นำเสนอด้วยสไตล์หนังคาวบอยตะวันตก Spaghetti Western ซึ่งนี่เป็นความตั้งใจของ Tarantino เอง
to do movies that deal with America’s horrible past with slavery and stuff but do them like Spaghetti Westerns, not like big issue movies. I want to do them like they’re genre films, but they deal with everything that America has never dealt with because it’s ashamed of it
ผลออกมาสำเร็จตามเป้า Django Unchained เป็นหนังที่โชว์การทรมานทาสผิวดำในไร่ฝ้ายอย่างโหดร้ายทารุณ (ใส่โซ่ตรวนที่ใบหน้า ฟาดโบย ปล่อยหมากัด ขังคุกตากแดดเป็นสัปดาห์ ให้ต่อสู้กันจนตาย ฯลฯ) ดูสมจริงจนคนดูแบบเรารู้สึกสะเทือนใจไปกับมัน (และมีอารมณ์ “ชักอยากไม่ค่อยดูต่อ”)
ในขณะเดียวกัน ฝั่งการนำเสนอแบบคาวบอยก็ดูเกินจริงจนรู้สึกได้ว่าเป็นการ์ตูน ตามสไตล์ที่ Tarantino ถนัด (อย่างในฉาก Django ดวลปืนกับคนทั้งบ้าน ตายเป็นเบือ เลือดสาดกระจาย บ้านระเบิด แต่ให้อารมณ์เหมือนเล่นเกมมากกว่า)
ตัวพล็อตของเรื่อง Django Unchained เป็นเรื่องของ Django (Jamie Foxx) ทาสผิวดำที่บังเอิญได้มาเป็นนักล่าค่าหัว (bounty hunter) ร่วมกับนักล่าค่าหัวผิวขาวเชื้อเยอรมัน Dr. Schultz (Christoph Waltz ที่ตามมาเล่นจาก Inglourious Basterds และได้ออสการ์อีกรอบด้วย)
เนื้อเรื่องช่วงแรกเป็นหนังคาวบอยคู่หู ช่วยกันล่าอาชญากรในภูมิภาคต่างๆ โดยอาศัยความกะล่อนและวาทศิลป์ของ Schultz ร่วมกับฝีมือการยิงปืนของ Django ที่เก่งเกินคาด ก่อนเข้าเนื้อเรื่องหลักที่ Django อยากช่วยภรรยา Broomhilda ที่ถูกขายเป็นทาสไปในบ้านของเศรษฐีอีกคนคือ Calvin Candie (Leonardo DiCaprio)
ที่บ้านของ Candie (มีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า Candyland) นี่เองที่เราได้เห็นการกดขี่ทาสทุกรูปแบบ เห็นการแบ่งชนชั้นของทาสด้วยกันเอง (ทาสในไร่ กระจอกกว่าทาสในบ้าน) และการกดขี่กันของทาส ผ่านตัวละครพ่อบ้านผิวดำ Stephen (Samuel L. Jackson) ที่ยิ่งตอกย้ำความน่าสะเทือนใจเข้าไปอีกขั้น (ทั้ง Leonardo และ Samuel เป็นดาราระดับท็อปอยู่แล้ว มารับบทเป็นตัวร้ายๆ ได้สมจริงมาก)
พอโครงเรื่องแข็งแรง แนวคิดการนำเสนอแปลกใหม่ ดาราเล่นสมบทบาท ทำให้ Django Unchained ถือเป็นหนังที่น่าประทับใจมากอีกเรื่องหนึ่ง แม้ตอนดูทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจอยู่หลายครั้ง แต่ก็บรรลุเป้าหมายของหนังที่ต้องการตีแผ่ประเด็นเรื่องทาสในอเมริกาได้อย่างเจาะลึก
ข้อเสียเดียวของหนังก็เหมือนเดิม คือมันยาวมากตามสไตล์ Tarantio พอเจอฉากทรมานแล้วทรมานอีก ก็จะรู้สึกว่าทำไมไม่จบสักที
ป.ล. เกร็ดเล็กๆ อันหนึ่งของหนังคือ ฉากเซ็นสัญญาซื้อขายทาสนั้น Leonardo ทุบโต๊ะแล้วกระจกแตกจนบาดมือเลือดอาบ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นนอกบท แต่ด้วยจิตวิญญาณดารา แกสวมบทบาทเล่นต่อไปจนคัต (ทั้งกองถ่ายยืนปรบมือให้) ทำให้ Tarantino ตัดสินใจนำฉากนี้เข้าไปใส่ในหนังด้วย