Cyberpunk: Edgerunners เป็นซีรีส์อนิเมะ 10 ตอน ที่นำเซ็ตติ้งของเกม Cyberpunk 2077 มาเล่าเป็นเรื่องแยกจากเกม เรื่องเล่าจบในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมมาก่อนก็ดูได้ แค่มีตัวละครบางตัวที่โผล่มาทั้งในอนิเมะและในเกมเท่านั้น
Edgerunners เป็นโปรเจคที่น่าสนใจในแง่ collab แบบข้ามชาติ เพราะ Cyberpunk เป็นเกมจากโปแลนด์ แต่เลือกสตูดิโออนิเมะจากญี่ปุ่นมาทำ แถมเลือกใครไม่เลือก กลับเป็น Studio Trigger ที่มีความโดดเด่นในเรื่องสไตล์การนำเสนอที่บ้าพลัง (Gurren Lagann, Kill la Kill, Promare) ซะด้วย
ตัวเกม Cyberpunk 2077 ของ CDPR เปิดตัวมาด้วยหายนะมากมายจนเลื่องชื่อขจรไกล แต่อนิเมะกลับทำออกมาได้ดีมาก และความนิยมในอนิเมะก็ช่วยให้เกม (ที่ปรับปรุงจนลงตัวแล้ว) กลับมาดังอีกครั้ง
[Spoiler Alert]
เนื้อเรื่องของ Edgerunners เล่าการเติบโตของวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อ David Martinez ที่เกิดมาในครอบครัวคนชั้นล่าง มีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีความฝันอยากผลักดันลูกให้เป็นใหญ่เป็นโต ในสภาพสังคมของเมือง Night City (เมืองเดียวกับในเกม) ที่ปกครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ Arasaka การไต่เต้าทางสังคมจำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนมีชื่อ เพื่อจบแล้วเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น
แม่ของ David ทำงานตัวเป็นเกลียวเพื่อส่งลูกเรียน ซึ่ง David ก็เรียนได้ดี แม้สังคมเพื่อนไฮโซที่โรงเรียนไม่ยอมรับ เมื่อแม่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต และสังคมทุนนิยมของ Night City บีบให้ David ต้องหาเงินมาจ่ายค่าชดเชยต่างๆ เขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากดัดแปลงตัวเองเป็นไซบอร์ก เพื่อให้มีพลังเหนือมนุษย์ทั่วไป เอาชนะสังคมที่โหดร้ายและหาเงินมาใช้หนี้
การเข้าวงการไซบอร์กของ David ทำให้เขาได้เจอหญิงสาวลึกลับ Lucy ที่เป็น “เน็ตรันเนอร์” (hacker ในโลกของ Cyberpunk ที่สามารถแฮ็กคนหรือสิ่งของจากระยะไกลได้) และจับพลัดจับผลูได้เข้าแก๊งไซเบอร์พังค์นักรบรับจ้าง (ภาษาในอนิเมะเรียก Edgerunner) โดยมี Maine ชายร่างยักษ์ (ที่ดูตอนแรกเหมือน Barret ในเกม FF7) เป็นหัวหน้า และเป็นเสมือนครู-พี่ชายที่คอยนำทาง David ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่
แก๊งของ Maine ทำงานรับจ้างให้กับกลุ่มอาชญากรรม (fixer) ชื่อ Faraday ที่รับงานมาจาก Militech บริษัทคู่แข่งของ Arasaka อีกที ช่วงกลางเรื่องเป็นความสัมพันธ์แบบ “สหาย” ของเพื่อนร่วมแก๊ง พร้อมกับค่อยๆ เสนอปมว่าการดัดแปลงตัวเองเป็นไซบอร์ก ใส่ชิ้นส่วนโลหะ (chrome) เข้ามามากๆ จะมีผลต่อร่างกาย จนเกิดภาวะวิกลจริต (cyberpsychosis) ขึ้นมาได้
ระหว่างภารกิจจับผู้บริหารของ Arasaka มาล้วงความลับในสมอง Maine เกิดวิกลจริตขึ้นมา และทำให้เพื่อนหลายคนในกลุ่มต้องตาย David จึงต้องกลายเป็นหัวหน้าทีมคนใหม่รับช่วงต่อ บาดแผลในใจที่เห็น Maine ตายส่งผลให้เขาดัดแปลงใส่ชิ้นส่วนไซบอร์กเข้ามามากขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่ Lucy ที่แฮ็กเข้าไปในระบบ พบว่า David เป็นแคนดิเดตที่ร่างกายเหมาะสมกับโปรเจคใหม่ของ Arasaka จึงแยกตัวออกจากแก๊ง และคอยคุ้มครอง David อย่างลับๆ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนแย่ลง
สงครามระหว่าง Arasaka และ Militech ทวีความรุนแรงขึ้นสู่จุดสูงสุด เช่นเดียวกับร่างกายและจิตใจของ David ที่เริ่มรับแรงกดดันจากร่างไซบอร์กไม่ไหว ไคลแมกซ์ในช่วงท้ายเรื่องจึงเป็นการปะทะกันของร่างไซบอร์กที่แทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์อีกแล้ว (ร่าง cyberskeleton ชวนให้นึกถึง Gundam Dendrobium ยิงฟันเนล) และสุดท้ายต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม
ความน่าประทับใจของ Cyberpunk: Edgerunners เกิดจาก 3 ปัจจัยที่ประกอบกันคือ โครงเรื่องที่แข็งแกร่ง ความสัมพันธ์ของตัวละครที่โดดเด่น และงานภาพที่ฉีกแนวจนน่าประทับใจ
เนื้อเรื่องของ Edgerunners พูดถึงโลกไซบอร์กในอนาคต ที่คนต้องดัดแปลงตัวเองเป็นไซบอร์กเพื่อความอยู่รอดในสังคม ที่ปกครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ จริงๆ พล็อตแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเล่าซ้ำมาหลายครั้งแล้ว (ที่เด่นๆ คือ Bladerunner ในแง่อิทธิพลบริษัท หรือ Gunnm ในแง่การดัดแปลงร่างกาย) แต่พอใส่ประเด็นเรื่อง cyberpsychosis เข้ามาก็ยังทำให้เรื่องเล่ามีความแปลกใหม่ (ผมไม่ได้เล่นเกม แต่ก็เข้าใจว่าเป็นประเด็นหลักอันหนึ่งของเกมด้วยเช่นกัน)
พล็อตหลักของ Edgerunners เป็นสูตรสำเร็จของหนัง-อนิเมที่ดี เล่าเรื่องการเติบโตขึ้นของตัวเอก (coming of age) ในสภาพแวดล้อมที่บีบคั้น เล่าเรื่องความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนร่วมแก๊ง ก่อนนำไปสู่ประเด็นขัดแย้งที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คือสงครามระหว่างบริษัท และคำถามว่าจริงๆ แล้วเราควรดัดแปลงตัวเองเป็นไซบอร์กมากน้อยแค่ไหน เมื่อไรถึงจะไม่นับเป็นมนุษย์อีกต่อไป
ตัวละครในเรื่องมีไม่เยอะมาก แต่ก็ออกแบบมาได้ดีทุกตัว นางเอก Lucy ถือเป็นนางเอกอนิเมะที่แปลกใหม่พอสมควร (ในยุคที่อนิเมะมีนางเอกทุก stereotype ให้เลือกสรรจนซ้ำซาก) มีทั้งความลึกลับ เลือดเย็น ห่างเหิน แต่ก็มีด้านที่ห่วงใยเพื่อนฝูงและคนรัก ส่วนพระเอก David ที่เป็นตัวแทนสายตาของคนดู ก็นำพาคนดูเผชิญสถานการณ์ที่บีบคั้นและน่าเอาใจช่วยอยู่ลึกๆ โดยที่ไม่ต้องบิ้วอารมณ์กันอย่างจงใจเกินไป
ส่วนงานภาพ พอได้พลังของ Studio Trigger และผู้กำกับ Hiroyuki Imaishi มากำกับเอง ทำให้งานฉีกแนวไปจากอนิเมทั่วไปมาก (แม้ไม่ฉีกไปจากงานก่อนๆ ของ Imaishi สักเท่าไรนัก คือสไตล์ชัดเจนอยู่แล้ว) ทำให้สไตล์ภาพของ Edgerunners แปลกใหม่และน่าจดจำ ในรีวิวของ IGN เรียกงานภาพของ Trigger ว่า “expressionistic” ซึ่งผมว่าเป็นคำที่เหมาะดี เน้นการใช้สีฉูดฉาด แสดงออกให้โอเวอร์เกินจริงเข้าไว้ ในขณะเดียวกันก็ลดดีเทลของบางจุดลง (อย่างตั้งใจ)
Whereas famous cyberpunk anime like Ghost in the Shell and Akira focus on highly detailed, futuristic cityscapes, Studio Trigger approaches the material with an exaggerated flair.
เพลงประกอบเลือกใช้เพลง This Fire ของ Franz Ferdinand และฉากเปิดเรื่องก็ heavily stylized มาก
ข้อเสียของ Edgerunners เท่าที่นึกออกคือ หนังเล่ารายละเอียดของโลก Night City ค่อนข้างเร็วในช่วงแรก และใช้บทสนทนาแบบแก๊งสเตอร์ที่มีศัพท์เฉพาะ คำย่อเยอะด้วย หากไม่เล่นเกมมาก่อนก็อาจตามรายละเอียดบางจุดไม่ทันในช่วงแรกๆ (ในเว็บของอนิเมถึงขั้นต้องมีหน้ารวม glossary เอาไว้อธิบายศัพท์)
อีกประเด็นคืองานภาพของ Edgerunners เต็มไปด้วยความรุนแรง เลือด อวัยวะพุ่งกระจาย (อย่างตั้งใจ) เซ็กซ์และฉากโป๊เปลือย (แม้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเรื่อง) ตรงนี้อาจทำให้หนังเหมาะกับกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะกล้านำเสนอเรื่องเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องกั๊ก แต่ในมุมกลับก็น่าเสียดายเหมือนกันว่า อาจเสียโอกาสเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างกว่านี้ไปสักหน่อย บางจุดก็รู้สึกไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร อย่างเรื่องเซ็กซ์ที่ไม่เกี่ยวกับตัวละครหลัก
ภาพรวมคือ Cyberpunk: Edgerunners ทำออกมาได้ดีกว่าที่คาดมาก ถือเป็นอนิเมจากเกมที่ทำออกมาดีมากๆ เรื่องหนึ่งเลย ถ้าให้คะแนนคงราว 9/10 เป็นรอง Arcane เล็กน้อย ดูจบแล้วก็เริ่มอยากเล่นเกมเลย ไม่แปลกใจที่ทำให้เกมกลับมาดังอีกครั้ง