ในฐานะคนไทยยุคปี 2021 ย่อมติดตามความเคลื่อนไหวของ “พส. พระสงฆ์” ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้คือ พระมหาสมปอง-พระมหาไพรวัลย์
และในฐานะชาวพุทธแบบตามทะเบียนบ้าน (เหมือนคนทั่วไป) มาเจอการสื่อสารที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ถูกใจคนรุ่นใหม่ ก็ย่อมมองว่าเป็นเรื่องดี น่าสนับสนุน
แต่ด้วยประสบการณ์สายสังคมศาสตร์ที่ไม่เยอะนัก ผมไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ พส. ได้ดีเท่าไรนัก (ความสามารถมีแค่นี้) จนมาเจอกับบทความของคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างกระจ่างชัด เลยมาบันทึกไว้
คนฟังพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองเพราะทั้งสองรูปพูดเรื่องที่พระไม่ค่อยพูดอย่างน้อยสองเรื่อง
เรื่องแรกคือการพูดเรื่องที่ชาวบ้านสนใจอย่างการวิจารณ์รัฐบาลหรือทุกข์ชาวบ้าน
เรื่องที่สองคือการพูดถึงคนที่คณะสงฆ์ไม่เคยสุงสิงด้วยหลายต่อหลายกลุ่มในสังคม
คณะสงฆ์ไทยยุ่งการเมืองแน่ๆ แต่เป็นการยุ่งการเมืองเฉพาะในมิติที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง
หรือพูดตรงๆ ก็คือ ในมิติที่ผู้มีอำนาจกำหนดและกำกับ ถึงแม้การยุ่งหลายกรณีจะขัดหลักกับคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างการห้ามฆ่า
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ภาพของสองมหาเป็นภาพที่พูดเรื่อง “สังคม” มากกว่าเรื่องของ “รัฐ”
พูดสั้นๆ คนเข้าถึงสองมหาเพราะสองมหาพูดเรื่องสังคม
หรือพูดให้เท่ขึ้นก็คือทั้งสองรูปทำให้พุทธศาสนาคุยกับสังคมมากกว่าจะเห็นสังคมเป็นแค่โยมอุปัฏฐาก หรือเป็นแค่เป้าหมายของการเผยแผ่พระธรรมด้วยการบวช, ฝึกสมาธิ, เรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์, ฝึกวิปัสสนา, บริจาค ฯลฯ
พระมหาไพรวัลย์ไลฟ์โดยใช้ศัพท์หลายคำของกะเทย, มีบทสนทนากับกะเทย และไปถึงขั้นไลฟ์กับพระมหาเทวีเจ้าซึ่งเป็นไอดอลของกะเทยแห่งยุค
วิธีของพระมหาไพรวัลย์ทำให้พุทธศาสนาคุยกับกะเทยจนต่อติดกับกะเทยและ LGBT กลุ่มอื่นๆ ได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย
กะเทยและ LGBT สัมพันธ์กับพุทธศาสนาในแง่หลักธรรมอย่างไรที่ต้องคุยกันยาว
แต่ที่แน่ๆ คณะสงฆ์ไทยมองเรื่องสงฆ์กับกะเทยแบบที่ไม่ดีนัก
คำพูดเรื่อง “พระตุ๊ด” หรือ “เณรแต๋ว” มีน้ำเสียงติเตียนยิ่งกว่ามองเป็นเรื่องปกติ ใช้วิธีไม่พูดถึงไปเลย หรือไม่ก็มีบทบาทแค่จ่ายเงินบริจาคทำบุญ
พระมหาไพรวัลย์ทำให้กะเทยไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม พระสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพศวิถีนี้ได้ภายใต้กรอบธรรมวินัยเหมือนที่ปฏิบัติกับเพศวิถีอื่น
พุทธศาสนาคือหนึ่งในเสาหลักของความเป็นไทย และสิ่งที่พระทั้งสองมหาทำคือการทำให้พุทธศาสนาเคลื่อนไปในทางที่เกาะความเคลื่อนไหวของสังคมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพระมหาไพรวัลย์ซึ่งทำเรื่องที่ Disrupt บทบาทพระสงฆ์ในสังคมไทยแน่ๆ ไม่ว่าจะประกาศเรื่องนี้ออกมาหรือไม่ก็ตาม
ภาพรวมก็คือ ปรากฏการณ์สองมหา เป็นการปรับตัวใน 2 มิติ คือ ในเชิง content ที่ขยายขอบเขตไปไกลกว่าพุทธในกรอบแบบเดิม และในเชิง audience ที่เข้าถึงคนกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้นอย่างเจาะจง