in Economics

Bitcoin ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่

ภาพจาก Pexels

ประเด็นถกเถียงเรื่อง Bitcoin [หรือ crypto/DeFi/Gamefi/Web3/etc. แล้วแต่อยากใส่ชื่อ] เป็นแชร์ลูกโซ่ (ในนิยามนี้คือ Ponzi scheme) หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานานพอสมควร และคงไม่น่าจะมีวันจบง่ายๆ (ตัวอย่างบล็อกของคุณหนูเนย ที่เขียนเรื่องนี้)

ล่าสุดได้มาอ่านบทความใน Financial Times เขียนโดยคอลัมนิสต์ Robert McCauley ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ University of Oxford/Boston University เปรียบเทียบ Bitcoin กับ Ponzi scheme ได้น่าสนใจดี

McCauley ใช้นิยามการทดสอบว่าอะไรเป็น Ponzi scheme หรือไม่ จากแนวคิดของ Jorge Stolfi นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวบราซิล ว่ามีเช็คลิสต์ 4 ข้อดังนี้

  1. Investors buy in the expectation of profits.
  2. That expectation is sustained by the profits of those that cash out.
  3. But there is no external source for those profits; they come entirely from new investments.
  4. And the operators take away a large portion of the money.

เพื่อให้เห็นภาพ McCauley ลองเทียบกับ Ponzi scheme ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คือ กรณีของ Bernie Madoff (มูลค่าทั้งหมด $64 billion) ซึ่งกรณีของ Madoff scheme กับ Bitcoin ผ่านเช็คลิสต์ทั้ง 4 ข้อเหมือนกัน

แต่จุดต่างของ Bitcoin กับ Madoff scheme มีด้วยกัน 2 เรื่องใหญ่ๆ

ข้อแรก คือ กรณีของ Madoff scheme นั้นจริงๆ แล้วสามารถตามเงินคืนกลับมาได้เยอะเลย โดยเงินต้นที่ลงไปทั้งหมดประมาณ $20 billion สามารถตามคืนได้ถึง 70% หรือราว $14 billion จากการแกะรอยเส้นทางการเงิน เป็นฝีมือของนักกฎหมาย Irving Picard ในฐานะหัวหน้าทีมติดตามหนี้ ที่ไปไล่ฟ้องคนที่ได้ผลประโยชน์จาก Madoff scheme มาได้เยอะมาก

กรณีของ Madoff scheme นั้น Madoff สัญญาว่าถ้ามาลงทุนด้วยจะได้ผลตอบแทน 1% ต่อเดือน ในขณะที่ Bitcoin ไม่มี “เจ้าภาพ” จึงไม่มีคำสัญญาใดๆ การซื้อ Bitcoin จึงเป็นการลงทุนที่แตกต่างกัน คนถือ Bitcoin มีวิธีเอาเงินสดกลับมา (cash out) เพียงวิธีเดียวคือขาย Bitcoin ให้คนอื่นอีกต่อ และไม่มีกลไกทางกฎหมายให้สามารถไปตามเงินคืนมาได้แบบที่ Picard ทำ (คนที่ซื้อ Bitcoin มาแล้ว ไม่มีภาระผูกพันใดๆ กับคนที่ขายให้)

McCauley เปรียบเทียบว่า การซื้อ Bitcoin จึงเหมือนกับการซื้อหุ้นปั่นของกิจการปาหี่ (pump-and-dump scheme) มากกว่าเป็นการลงทุนตามนิยามของ Ponzi scheme แบบเป๊ะๆ เพราะไม่ได้มีความเป็นลูกโซ่เท่า ไม่มีการหลอกเป็นชั้นๆ แต่ผู้ซื้อนั้นซื้อเพราะ “กลัวตกรถ” (fear of missing out) เพราะเห็นเพื่อนรวยจากการซื้อมาก่อนหน้า

ข้อที่สอง เป็นมุมมองที่น่าสนใจว่า Ponzi scheme นั้นเป็น zero-sum game ในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือเจ้ามือแชร์จะ “กิน” เงินจากคนที่มาลงทุนด้วย (คนกินได้เงิน คนถูกกินเสียเงิน จำนวนเงินรวมเท่าเดิม แค่เปลี่ยนมือ)

แต่กรณีของ Bitcoin นั้น McCauley เรียกมันว่าเป็น negative-sum game ถ้ามองเรื่องปัจจัยทางสังคมในภาพรวมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะในแง่จำนวนเงินเป็น zero-sum คือมีคนได้เงิน มีคนถูกกินเงินเหมือนกัน แต่มีเรื่องปัจจัยค่าไฟฟ้าสำหรับขุดเหมืองเข้ามาเกี่ยวด้วย หักลบกันมาแล้ว สังคมติดลบ

McCauley บอกว่า Madoff scheme นั้นใช้คนเพียงไม่กี่คน โกงเงินคนไปมหาศาล ในแง่ต้นทุน operation cost ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ได้

แต่กรณีของ Bitcoin และคริปโตอื่นๆ ในภาพรวม มีต้นทุนค่าพลังงานในการประมวลผลธุรกรรมที่แพงมาก (ตัวเลขที่มีการประเมินคือ โลกใช้ต้นทุนตรงนี้ไปแล้ว $15 billion นับจากปี 2009-2021 ช่วงต้นปี ตัวเลขตอนนี้คาดว่าวันละ 45 ล้านดอลลาร์) และหากว่าตลาด Bitcoin พังพินาศลงไป เงินตรงนี้ก็เสียไปโดยเปล่าประโยชน์

McCauley จึงสรุปว่า Bitcoin ไม่ใช่ Ponzi scheme หรอก เพราะมันแย่กว่านั้นต่างหาก ในวันที่ตลาด Bitcoin ล่มสลาย ผู้ถือเงินจะอยากให้มันมีสถานะเป็น Ponzi scheme มากกว่าด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ยังตามเงินกลับคืนมาได้

หมายเหตุ: ประเด็นเรื่อง Bitcoin/crypto นั้น ผมยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ขบคิดอยู่อีกพอสมควร เช่น ความแมสของ Bitcoin/crypto ในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (คือถ้ามองว่าเป็น Ponzi scheme ก็ไม่เคยมีอะไรใหญ่ระดับโลก ลงทุกรากหญ้าขนาดนี้) ซึ่งเกิดจาก technology enablement จากสมาร์ทโฟน-อินเทอร์เน็ต หรือประเด็นเรื่อง surplus of wealth/money ที่เกิดจากการปั๊มเงินเข้าในระบบการเงินโลก ฯลฯ ซึ่งจะหาโอกาสเขียนถึงต่อไป บทความนี้เป็นการสรุปมุมมองของ McCauley อย่างเดียว