ภาพจาก Pexels
ประเด็นถกเถียงเรื่อง Bitcoin [หรือ crypto/DeFi/Gamefi/Web3/etc. แล้วแต่อยากใส่ชื่อ] เป็นแชร์ลูกโซ่ (ในนิยามนี้คือ Ponzi scheme) หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานานพอสมควร และคงไม่น่าจะมีวันจบง่ายๆ (ตัวอย่างบล็อกของคุณหนูเนย ที่เขียนเรื่องนี้)
ล่าสุดได้มาอ่านบทความใน Financial Times เขียนโดยคอลัมนิสต์ Robert McCauley ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ University of Oxford/Boston University เปรียบเทียบ Bitcoin กับ Ponzi scheme ได้น่าสนใจดี
McCauley ใช้นิยามการทดสอบว่าอะไรเป็น Ponzi scheme หรือไม่ จากแนวคิดของ Jorge Stolfi นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวบราซิล ว่ามีเช็คลิสต์ 4 ข้อดังนี้
- Investors buy in the expectation of profits.
- That expectation is sustained by the profits of those that cash out.
- But there is no external source for those profits; they come entirely from new investments.
- And the operators take away a large portion of the money.
เพื่อให้เห็นภาพ McCauley ลองเทียบกับ Ponzi scheme ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คือ กรณีของ Bernie Madoff (มูลค่าทั้งหมด $64 billion) ซึ่งกรณีของ Madoff scheme กับ Bitcoin ผ่านเช็คลิสต์ทั้ง 4 ข้อเหมือนกัน
แต่จุดต่างของ Bitcoin กับ Madoff scheme มีด้วยกัน 2 เรื่องใหญ่ๆ
ข้อแรก คือ กรณีของ Madoff scheme นั้นจริงๆ แล้วสามารถตามเงินคืนกลับมาได้เยอะเลย โดยเงินต้นที่ลงไปทั้งหมดประมาณ $20 billion สามารถตามคืนได้ถึง 70% หรือราว $14 billion จากการแกะรอยเส้นทางการเงิน เป็นฝีมือของนักกฎหมาย Irving Picard ในฐานะหัวหน้าทีมติดตามหนี้ ที่ไปไล่ฟ้องคนที่ได้ผลประโยชน์จาก Madoff scheme มาได้เยอะมาก
กรณีของ Madoff scheme นั้น Madoff สัญญาว่าถ้ามาลงทุนด้วยจะได้ผลตอบแทน 1% ต่อเดือน ในขณะที่ Bitcoin ไม่มี “เจ้าภาพ” จึงไม่มีคำสัญญาใดๆ การซื้อ Bitcoin จึงเป็นการลงทุนที่แตกต่างกัน คนถือ Bitcoin มีวิธีเอาเงินสดกลับมา (cash out) เพียงวิธีเดียวคือขาย Bitcoin ให้คนอื่นอีกต่อ และไม่มีกลไกทางกฎหมายให้สามารถไปตามเงินคืนมาได้แบบที่ Picard ทำ (คนที่ซื้อ Bitcoin มาแล้ว ไม่มีภาระผูกพันใดๆ กับคนที่ขายให้)
McCauley เปรียบเทียบว่า การซื้อ Bitcoin จึงเหมือนกับการซื้อหุ้นปั่นของกิจการปาหี่ (pump-and-dump scheme) มากกว่าเป็นการลงทุนตามนิยามของ Ponzi scheme แบบเป๊ะๆ เพราะไม่ได้มีความเป็นลูกโซ่เท่า ไม่มีการหลอกเป็นชั้นๆ แต่ผู้ซื้อนั้นซื้อเพราะ “กลัวตกรถ” (fear of missing out) เพราะเห็นเพื่อนรวยจากการซื้อมาก่อนหน้า
ข้อที่สอง เป็นมุมมองที่น่าสนใจว่า Ponzi scheme นั้นเป็น zero-sum game ในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือเจ้ามือแชร์จะ “กิน” เงินจากคนที่มาลงทุนด้วย (คนกินได้เงิน คนถูกกินเสียเงิน จำนวนเงินรวมเท่าเดิม แค่เปลี่ยนมือ)
แต่กรณีของ Bitcoin นั้น McCauley เรียกมันว่าเป็น negative-sum game ถ้ามองเรื่องปัจจัยทางสังคมในภาพรวมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะในแง่จำนวนเงินเป็น zero-sum คือมีคนได้เงิน มีคนถูกกินเงินเหมือนกัน แต่มีเรื่องปัจจัยค่าไฟฟ้าสำหรับขุดเหมืองเข้ามาเกี่ยวด้วย หักลบกันมาแล้ว สังคมติดลบ
McCauley บอกว่า Madoff scheme นั้นใช้คนเพียงไม่กี่คน โกงเงินคนไปมหาศาล ในแง่ต้นทุน operation cost ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ได้
แต่กรณีของ Bitcoin และคริปโตอื่นๆ ในภาพรวม มีต้นทุนค่าพลังงานในการประมวลผลธุรกรรมที่แพงมาก (ตัวเลขที่มีการประเมินคือ โลกใช้ต้นทุนตรงนี้ไปแล้ว $15 billion นับจากปี 2009-2021 ช่วงต้นปี ตัวเลขตอนนี้คาดว่าวันละ 45 ล้านดอลลาร์) และหากว่าตลาด Bitcoin พังพินาศลงไป เงินตรงนี้ก็เสียไปโดยเปล่าประโยชน์
McCauley จึงสรุปว่า Bitcoin ไม่ใช่ Ponzi scheme หรอก เพราะมันแย่กว่านั้นต่างหาก ในวันที่ตลาด Bitcoin ล่มสลาย ผู้ถือเงินจะอยากให้มันมีสถานะเป็น Ponzi scheme มากกว่าด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ยังตามเงินกลับคืนมาได้
หมายเหตุ: ประเด็นเรื่อง Bitcoin/crypto นั้น ผมยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ขบคิดอยู่อีกพอสมควร เช่น ความแมสของ Bitcoin/crypto ในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (คือถ้ามองว่าเป็น Ponzi scheme ก็ไม่เคยมีอะไรใหญ่ระดับโลก ลงทุกรากหญ้าขนาดนี้) ซึ่งเกิดจาก technology enablement จากสมาร์ทโฟน-อินเทอร์เน็ต หรือประเด็นเรื่อง surplus of wealth/money ที่เกิดจากการปั๊มเงินเข้าในระบบการเงินโลก ฯลฯ ซึ่งจะหาโอกาสเขียนถึงต่อไป บทความนี้เป็นการสรุปมุมมองของ McCauley อย่างเดียว