in Knowledge

Bank Effect & Ever Given

จากปัญหาเรือ Ever Given ขวางคลองสุเอซจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เลยมาดูเรื่องสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และพบว่าปัญหาหลักเลยคือสิ่งที่เรียกว่า Bank Effect

คำว่า Bank ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าธนาคาร แต่แปลว่า “ชายฝั่ง” ซึ่งคำแปลก็ตรงไปตรงมา มันคือปรากฏการณ์เมื่อเรือแล่นใกล้ฝั่งมากๆ นั่นเอง

Bank Effect จะเกิดขึ้นในพื้นที่แคบๆ เช่น คลอง เมื่อเรือถูกบีบให้แล่นใกล้ฝั่งด้วยความเร็วสูง จะเกิด 2 เรื่องขึ้นมาคือ

  • คลื่นจากเรือจะเด้งไปที่ชายฝั่งแล้วสะท้อนกลับมา ทำให้หัวเรือเบนออกจากฝั่ง
  • ความแตกต่างของความดันน้ำ จะเกิดแรงดูด (suction) ที่ตอนกลางๆ เรือ ดูดท้ายเรือเข้าหาฝั่ง

มีคลิปที่อธิบายเรื่องนี้อยู่พอสมควร ที่ลองดูแล้วเข้าใจง่ายๆ คือ

อธิบายเรื่องความดันที่แตกต่างกัน

และอันนี้ (นาทีประมาณ 6:30)

กรณีของเรือ Ever Given มีคนทำแผนที่เส้นทางการวิ่งของเรือในคลองสุเอซไว้ชัดเจนดี เห็นได้ชัดว่าเรือมีอาการ “ส่าย” อยู่ก่อนแล้วจาก Bank Effect และปัจจัยเรื่องลมด้วย

อีกปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้องคือ ขนาดของเรือ ซึ่ง Ever Given ถือเป็นเรือคาร์โก้ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย

พอไปอ่านข้อมูลใน Wikipedia ก็พบว่า เรือสินค้าถูกจำกัดขนาดมานานพอสมควรแล้ว จากปัจจัยขนาดของคลองสุเอซและคลองปานามาที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้เรือสินค้ามีเพดานความยาวที่ประมาณ 400 เมตร ความกว้างที่ประมาณ 60 เมตร และความจุคอนเทนเนอร์ได้ 20,000 กล่องนิดๆ เท่านั้น

พูดง่ายๆ ว่าในเชิงวิศวกรรมเรือ สามารถสร้างใหญ่กว่านี้ได้ไม่มีปัญหา แต่เอาเข้าคลองหรือเส้นทางเดินเรือสำคัญๆ ของโลกไม่ได้แล้ว