ผ่านมา 3 ปีนับจาก Andor Season 1 ในที่สุด Season 2 ก็มาฉายในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2025 และถือเป็นการปิดจบ “ไตรภาค Rogue One” โดยสมบูรณ์
ไตรภาค Rogue One หรือบางคนเรียก The Andor Saga ประกอบด้วย Andor Season 1, Season 2, ภาพยนตร์ Rogue One ถือเป็นมหากาพย์ที่มีแกนกลางคือการเล่าเรื่อง “คนธรรมดา” ในจักรวาล Star Wars ที่มีบทบาทในการต่อสู้กับการกดขี่ของฝ่ายจักรวรรดิ โดยไม่ต้องมีพลังพิเศษ บรรดาศักดิ์เจได อาวุธแฟนตาซีอย่างไลท์เซเบอร์
Did you know? The Andor Saga is approx. 20 hours 15 mins including Rogue One
By contrast, The Skywalker Saga run time is 20 hours 35 mins
It’s a good time to be a Star Wars fan! pic.twitter.com/x7xVMnkDLv
— Commander Brom Titus (@BromTitus) May 13, 2025
ใน Episode IV: A New Hope นั้น ไอ้หนุ่มบ้านนา Luke Skywalker แห่งดาวทะเลทราย ต้องไปส่งมอบหุ่นยนต์ R2D2 ให้กับลุงแก่ๆ เพี้ยนๆ อย่าง Ben Kenobi แต่สุดท้ายจับพลัดจับผลูจนไปทำลาย Death Star อาวุธร้ายของจักรวรรดิได้แบบเหลือเชื่อ ก่อนที่ภาคต่อๆ มาจะเฉลยว่ามันเป็นเพราะ Luke นั้นคือ “The One” ผู้มีโชคชะตา (และชาติตระกูล) ลิขิตมาแล้วให้ทำภารกิจเหล่านี้ เป็นวิธีเล่าเรื่องที่มีอภินิหารแบบดั้งเดิม
แต่ไตรภาค Rogue One นั้นกลับข้างกันหมด เราได้เห็นชีวิตของคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่พอใจกับการปกครองของจักรวรรดิ แม้คนเหล่านี้ไม่มีพลังพิเศษใดๆ ไปต่อกรกับแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ แต่พวกเขาก็มีวิธีการต่อสู้ของตัวเองที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพันธมิตรในสภา สร้างเครือข่ายข่าวกรอง ระดมทุนแบบลับๆ โดยมีจุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ Cassian Andor เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของฝ่ายกบฎ Rebel Alliance
ในหนัง Rogue One มีฉากหนึ่งที่นางเอก Jyn Erso ไม่พอใจ Cassian และดูถูกเขาว่าถ้าเอาแต่รับคำสั่งคงได้เป็นแค่ทหารกระจอก Stormtrooper ทำให้ Cassian โกรธและบอกว่าไม่ได้มีแต่เธอหรอกนะที่สูญเสียทุกอย่าง พวกเรา (ฝ่ายกบฎ) ก็สูญเสียเหมือนกัน แล้วจึงตัดสินใจว่าต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง
ซีรีส์ Andor จับประโยคนี้แหละมาขยายความ เพื่อเล่าให้เรารู้ว่าชีวิตของ Cassian เจออะไรมาบ้างก่อนหน้านั้น
Andor Season 1 เล่าถึงเส้นทางชีวิตของ Cassian ตั้งแต่เด็กจนโต เล่าภารกิจช่วงแรกๆ ของเขาที่ยังไม่เชื่อใจเครือข่ายสายลับของ Luthen Rael มากนัก แต่หลังเหตุการณ์ปะทะที่ดาว Ferrix ของ Cassian ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายกบฎอย่างเต็มตัวในตอนจบของ Season 1
ส่วน Season 2 เป็นการเชื่อมต่อชีวิตของ Cassian ที่เข้าร่วมกับฝ่ายกบฎแล้ว ว่ามีบทบาทอะไรบ้าง ก่อนโยงไปสู่ภารกิจสุดท้ายของเขาใน Rogue One ที่แฟนๆ Star Wars รู้กันอยู่แล้วว่าลงเอยอย่างไร ตรงนี้ถือเป็นงานยากของผู้สร้างซีรีส์ ที่ภาคสุดท้ายดันเป็นเรื่องท่อนตรงกลาง แต่ก็ทำออกมาได้ดีมากทีเดียว
ถ้าแกนหลักของ A New Hope คือการทำลาย Death Star โดยอาศัยจุดอ่อนที่ฝ่ายกบฎค้นพบ
ส่วนแกนหลักของ Rogue One คือการตามหาแปลนของ Death Star แล้วส่งให้ถึงมือของฝ่ายกบฎ
แกนหลักของ Andor Season 2 ย่อมเป็นกระบวนการสร้าง Death Star โดยเล่าผ่านผู้คนต่างๆ ที่รายล้อมมัน ทั้งฝั่งจักรวรรดิและฝั่งกบฎ
Andor Season 2 ยังเลือกวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ คือ แบ่งซีรีส์ 12 ตอนออกเป็น 4 องค์ (arc) องค์ละ 3 ตอน และแต่ละองค์มีระยะเวลาห่างกัน 1 ปี (นับตามปฏิทิน BBY หรือ Before Battle of Yavin เหตุการณ์ในภาค A New Hope) เพื่อให้เราเห็นพัฒนาการว่า ช่วงเวลา 4 ปีก่อนเหตุการณ์ใน Rogue One เกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละปี
หากดาวเคราะห์หลักของ Season 1 คือ Ferrix บ้านของ Cassian ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเลือกเข้าฝ่ายกบฎ ดาวเคราะห์หลักของ Season 2 คือ Ghorman ดาวเคราะห์ที่มีชื่อเสียงเรื่องการผลิตเส้นใยผ้าจากแมงมุมพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งดูไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งทางการเมืองเลย แต่ Ghorman ดันซวยมีแร่ธาตุสำคัญที่ต้องใช้ในการสร้าง Death Star จนทำให้จักรวรรดิต้องการมายึดครองดาวดวงนี้
ซีรีส์ค่อยๆ ปูพื้นบริบทของฝ่ายจักรวรรดิและฝ่ายกบฎอย่างช้าๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังการหลบหนีของพวก Cassian จาก Ferrix ก่อนขมวดเข้าเป็นปมใน Episode 8 เหตุการณ์ประท้วงของชาว Ghor จนนำไปสู่การปราบปรามที่เรียกว่า Ghorman Massacre
เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตัวละครหลายคนในฝ่ายกบฎ โดยเฉพาะวุฒิสมาชิก Mon Mothma ที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดโปงเรื่องนี้ว่าเป็นฝีมือของจักรพรรดิ Palpatine และส่งผลให้เธอต้องหลบหนีออกจากนครหลวง Coruscant ไปเป็นหนึ่งในแกนนำของฝ่ายกบฎเต็มตัวที่ดาว Yavin ใน Episode 9 (สองตอนนี้ได้คะแนนรีวิวเฉลี่ยสูงที่สุดใน Season 2 ด้วย)
ส่วน 3 ตอนสุดท้ายเป็นเหมือนการผ่อนเรื่องลงมาเล็กน้อย (เทียบกับองค์สาม) เพื่อส่งต่อพล็อตไปยัง Rogue One นั่นเอง (ดูจบตอน 12 แล้วเปิด Rogue One ดูต่อได้ทันที)
ฉากที่ผมชอบคือ สิ่งสุดท้ายที่เครือข่ายข่าวกรองของ Luthen Rael ส่งมอบให้ศูนย์บัญชาการฝ่ายกบฎในช่วงท้าย มีเพียงข้อมูลลับสั้นๆ ไม่กี่คำ (แต่ยิ่งใหญ่มากเพราะเปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามได้) แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือชีวิตของเหล่า “คนธรรมดา” ที่ต้องตายไป ไม่ว่าจะเป็นตัวของ Luthen Rael, Lonni Jung, Cinta, Brasso และประชากรชาว Ghor อีกจำนวนมาก ยังไม่รวมชีวิตของคนที่เหลืออยู่ที่ต้องทนทุกข์เพราะแยกจากครอบครัวและคนรัก เช่น Vel ที่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อหลังเสียคนรักในภารกิจ, Kleya ที่สูญสิ้นแทบทุกอย่าง, Bix ที่ตัดสินใจแยกจาก Cassian และ Mon เองที่แลกการปฏิวัติกับชีวิตส่วนตัวของลูกสาว
คนธรรมดาเหล่านี้ไม่ได้มีแต่ฝ่ายกบฎเท่านั้น ในซีรีส์ยังเล่าเรื่องของ Dedra Meero เจ้าหน้าที่ดาวรุ่งของหน่วยความมั่นคง Imperial Security Bureau (ISB) ของจักรวรรดิ ที่หายใจเข้าออกเป็นความสำเร็จในหน้าที่การงาน พยายามทุกอย่างเพื่อสร้างผลงานให้เบื้องบนยอมรับ แม้เป็นบางอย่างที่เธอไม่ได้อยากทำก็ตาม แต่สุดท้ายชีวิตเธอก็พลิกผัน พังทลาย และไม่เหลืออะไรเลย (ต้องยกย่องนักแสดง Denise Gough ที่เล่นออกมาให้ Dedra หน้าเครียดได้ตลอดเวลาขนาดนี้)
ซีรีส์ Andor Season 2 เล่าชีวิตของคนธรรมดาเหล่านี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและทรงพลัง ช่วยให้เราได้เห็น “เบื้องหลังของการปฏิวัติ” ว่ามันไม่ได้มีแต่ฮีโร่และทหารที่ไปสู้ในแนวหน้า แต่มันยังมีคนทำงานสนับสนุนอีกมาก ที่เสี่ยงตายเพื่อการปฏิวัติที่ตัวเองอาจไม่มีวันได้เห็น ดังคำพูดของ Luthen ในเรื่องว่า
I burn my life to make a sunrise that I know I’ll never see.
ไตรภาค Rogue One นับเป็นซีรีส์คุณภาพที่แฟนๆ Star Wars ควรต้องดู (ส่วนตัวผมให้เหนือกว่า The Mandalorian หนึ่งขั้น) การวางโครงเรื่องทั้ง 2 ซีรีส์ + 1 ภาพยนตร์ให้ต่อกันได้เรียบเนียน บวกกับการแต่งเรื่องเพิ่มเข้าไปให้มีมิติลึกขึ้น และโปรดักชันระดับอลังการ ถือว่าเป็นระดับ masterpiece
Abran paso a la trilogía del poder ilimitado: Andor-Rogue One ✌️#Andor #StarWars pic.twitter.com/BaddtwBI3V
— Sombra del Imperio #Andor #StarWars (@SombradeImperio) May 14, 2025
Tony Gilroy โปรดิวเซอร์ผู้สร้าง Andor เคยมีส่วนเขียนบท Rogue One ก่อนขยายบทบาทตัวเองมาทำซีรีส์ต่อ ตัวเขาเองยอมรับว่าไม่ใช่แฟน Star Wars และก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจเลยด้วยซ้ำ (แต่พี่มือถึงไง!)
ผมเคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไม Tony Gilroy ถึงทำ Andor ออกมาได้ดีมาก คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะประสบการณ์ของเขาที่เคยเขียนบทหนังสายลับซีรีส์ Bourne และซีรีส์การเมือง House of Cards มา จึงรู้ว่าจะทำซีรีส์ Andor ที่เป็นการเมือง + ทริลเลอร์สายลับให้ออกมาดีได้อย่างไร นอกจากนี้การที่เขาอยู่ “ไกล” จากความเป็น Star Wars ทำให้มีมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่าง รวมถึงการมีทีมงานคือน้องชายฝาแฝด Dan-John Gilroy มาช่วยงานเขียนบท-โปรดิวซ์ด้วย
ฝั่งของงานโปรดักชันที่อลังการมากนั้น Tony ให้สัมภาษณ์ว่าได้ทุนสร้างจาก Disney เยอะมากในระดับว่าคงไม่ได้เห็นกันอีกแล้ว (ถ้าดูในคลิปเบื้องหลัง จะเห็นการลงทุนสร้างฉากจัตุรัสดาว Ghorman ขึ้นมาจริงๆ ทั้งฉาก) รวมถึงขอบคุณ Kathleen Kennedy ประธานของ Lucasfilm ที่ช่วยสนับสนุนและโอเคกับทุกอย่างที่เขาขอ (แม้ว่าแฟนๆ Star Wars จะไม่ชอบ Kathleen ก็ตาม แต่ Tony ให้เครดิตเต็มที่)
ข้อเสียเดียวที่ผมนึกออกของ Andor Season 2 คือการเล่าเรื่องแบบ 4 องค์แยกปี มันทำให้ตัดเรื่องราวที่ควรมีออกไปเยอะมาก (เช่น การตามล่า Axis ของ Dreda ที่มาสำเร็จในองค์ 4 เกิดขึ้นได้อย่างไร เธอเล่าแค่ 2-3 ประโยค ทั้งที่แต่งเป็นซีรีส์ได้หลายตอน, เกิดอะไรขึ้นกับชาว Ghorman หลังเหตุการณ์สังหารหมู่, การค้นพบดาว Yavin ก่อนกลายมาเป็นฐานทัพของฝ่ายกบฎ กระบวนการเกิดขึ้นได้อย่างไร, ความสัมพันธ์ของ Cassian กับหุ่น K2SO น้อยไปหน่อย)
แต่ Tony ก็บอกเองว่าถ้าจะจัดเต็มจริงๆ คงเป็น 5-6 ซีซั่นซึ่งไม่มีทางถ่ายทำได้เสร็จในชีวิตนี้ เอาเท่านี้ก็สุดที่จะทำได้แล้ว ก่อนปิดท้ายว่าเขาจะขอพักเบรกจาก Star Wars ไปทำอย่างอื่นบ้างแล้ว แฟนๆ ไม่ต้องมีความหวังกันอีก
เกร็ดอื่นๆ ในเรื่อง
- ประโยคทองว่า “Rebellions Are Built on Hope” ที่พนักงานโรงแรมบน Ghorman พูดกับ Cassian นั้นเป็นประโยคที่ Cassian พูดกับ Jyn ใน Rogue One และตัว Tony Gilroy ลืมไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ลูกชายเขาดันเป็นแฟน Star Wars และเดินมาบอกพ่อว่า ประโยคนี้มันไม่สามารถเกิดขึ้นมาเองได้ Cassian ต้องเคยได้ยินมาจากใครสักคนสิ ทำให้ Tony ใส่ฉากนี้เข้ามาใน Season 2
- ภาษาของดาว Ghorman เป็นภาษาที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยนักภาษาศาสตร์ ใช้พูดได้จริงๆ โดยเอาสำเนียงมาจากภาษาฝรั่งเศส เหตุผลที่สร้างภาษาใหม่เป็นเพราะอยากให้ได้อารมณ์ของ “การปฏิวัติในต่างแดน”
- ฉากรัฐสภาของดาว Coruscant ที่เป็นตึกอลังการ อาคารแห่งนี้มีอยู่จริงๆ (แม้ใช้ CG ช่วยแต่งเพิ่ม) มันคือ City of Arts and Sciences ที่เมือง Valencia ในสเปน
- ฉากที่ Krennic เอามือจิ้มหัว Dreda ตอนสอบสวน ไม่มีในบทแต่เป็นนักแสดง Ben Mendelsohn เล่นนอกบทแล้วออกมาดี
- วุฒิสมาชิกของฝ่ายกบฎ ผู้หญิงผิวดำที่ค้านทุกเรื่อง (ใน Rogue One ก็ค้าน) จนคนดูน่าจะรู้สึกว่าฝ่ายกบฎจะพินาศเพราะเธอ คือ Senator Pamlo
- ปืนของ Melshi ที่ Vel ถามถึงว่าได้มาจากไหน เป็นปืนที่ Cassian ได้มาจาก Syril Karn ใน Season 1 อีกที (Reddit) ซึ่งมันมีผลกับชื่อตอน Episode 8 “Who Are You?” ด้วย เพราะ Syril จำหน้าและชื่อ Cassian ได้อย่างแม่นยำ และตามล่าเขามาตลอด ในขณะที่ Cassian จำไม่ได้เลยว่าเขาเป็นใคร
- นอกจากนี้ยังมีเฉลยว่า ปืนที่ Cassian ใช้ในตอนท้ายของ Rogue One นั้นเป็นปืนอันเดียวกับที่ Bix ประกอบและใช้ใน Season 2 ด้วย (Reddit)
- ประเด็นที่แฟนๆ สงสัยกันมาตั้งแต่ต้นคือ Kleya เป็นพี่สาวของ Andor ที่พลัดพรากจากกันไปหรือไม่ มีคำตอบยืนยันโดย Tony Gilroy แล้วว่าไม่ใช่ (นี่เป็นการแสดงครั้งแรกของ Elizabeth Dulau ด้วย ใส่สุดมาก)
สำหรับแฟนๆ Andor ที่ดูจบแล้วรู้สึกยังไม่อิ่ม แนะนำให้ดูคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำ Andor Declassified ซึ่ง Disney ออกมาให้ดู 4 ตอน
ฉากที่เซอร์ไพร์สที่สุดในเรื่องคงเป็น Mon Mothma เต้นเพลง EDM อวกาศในตอนจบ Episode 3 (ก่อนเป็นนายพลหญิง ทุกคนก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน) ที่เจ๋งคือช่อง official ก็ออกเพลงนี้อย่างเป็นทางการ เวอร์ชันความยาว 1 ชม. มาให้ชม-ฟังกันด้วย (เอาไปเปิดในคลับได้เลยนะเนี่ย)