in Movies

All Quiet on the Western Front

All Quiet on the Western Front หรือชื่อภาษาเยอรมันคือ “Im Westen nichts Neues” เป็นหนังสือนิยายสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่งโดยนักเขียนชาวเยอรมัน Erich Maria Remarque ที่ผ่านศึก “แนวรบตะวันตก” มาจริงๆ

นิยายตีพิมพ์ในปี 1928 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณสิบปี และได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในเยอรมนีและในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เยอรมนีช่วงนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของพรรคนาซี (ที่อยากทำสงคราม) แต่หนังสือเรื่องนี้เป็นการเล่าโศกนาฏกรรมของสงคราม ทำให้หนังสือถูกแบนและถูกเผาในช่วงปี 1933 ที่นาซีครองอำนาจ (ตัวของ Remarque และครอบครัวย้ายไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ และย้ายไปสหรัฐอเมริกาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้น)

เนื้อหาของ All Quiet on the Western Front เล่าความโหดร้ายของสงครามโลก ในแนวรบตะวันตกของเยอรมนี (Western Front ที่เป็นรอยต่อกับฝรั่งเศส) ผ่านสายตาของนายทหารหนุ่ม Paul Bäumer ที่เขาและเพื่อนๆ นักเรียนวัยรุ่นโลกสวย อาสาสมัครไปรบเพื่อมาตุภูมิ แต่ต้องมาเผชิญกับความเรียลของสงครามแบบไม่ทันตั้งตัว ภาพรวมของเรื่องเป็นการต่อต้านสงคราม เล่าเรื่องความสูญเสียของคนธรรมดาๆ หลากหลายสาขาอาชีพที่มาเจอกันในกองทัพเยอรมัน

All Quiet on the Western Front ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1930 โดยใช้ผู้สร้าง ผู้กำกับ นักแสดงเป็นอเมริกันทั้งหมด หนังประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่เสียงวิจารณ์และรางวัล (ผู้กำกับ Lewis Milestone ชนะออสการ์) จากนั้นถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทางทีวี CBS อีกครั้งในปี 1979

All Quiet on the Western Front เวอร์ชันปี 2022 ถือเป็นภาพยนตร์รอบที่สาม แต่คราวนี้ทำโดยทีมผู้สร้างจากเยอรมันทั้งชุด ผู้กำกับ นักแสดงทั้งเรื่องพูดเป็นภาษาเยอรมัน โดย Netflix ได้ไลเซนส์ฉายทางสตรีมมิ่งทั่วโลก (มีเวอร์ชันพากย์อังกฤษทับให้เลือก)

ออกตัวว่าไม่เคยอ่านหนังสือ และไม่เคยดูหนังเวอร์ชันใดมาก่อนเลย มาดูเวอร์ชันปี 2022 เป็นครั้งแรก สิ่งแรกที่ต้องชมคือหนังภาพสวยมาก โปรดักชันจัดเต็ม ฉากสงครามอลังการสมจริงมาก นักแสดงเล่นกันเต็มที่ เปื้อนดินโคลนกันไม่ยั้ง

หนังใช้วิธีเล่าเรื่องแบบคู่ขนาน ระหว่างชีวิตของกลุ่มทหารหนุ่ม (ผ่านสายตาของ Bäumer) ที่เขาและกลุ่มเพื่อนๆ ต้องมาเจอกับความจริงของสงคราม โดยมีนายทหารรุ่นพี่ (Kat และ Tjaden) คอยช่วยเหลือและสั่งสอน เกิดความเป็นพี่น้อง (brotherhood) ระหว่างกันในหมู่ทหารหน่วยเดียวกัน แต่ระหว่างทางก็ต้องเจอสงครามที่โหดร้าย ชีวิตหฤโหดจากวิธีการรบในร่อง (trench warfare) ที่เป็นเอกลักษณ์ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รวมถึงอาวุธร้ายอื่นๆ อย่างการใช้แก๊สพิษและปืนไฟ การเริ่มนำเครื่องบินและรถถังมาใช้ในสงคราม จนทำให้เพื่อนร่วมหน่วยต้องตายไปทีละคนสองคน

ในอีกด้าน กลุ่มนักการเมืองของเยอรมันก็พยายามเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรแบบลับๆ บนขบวนรถไฟที่ไปเจอกันในป่า Forest of Compiègne ซึ่งเป็นการเจรจาที่ฝ่ายเยอรมันเสียเปรียบทุกอย่าง ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เลย ต้องยอมสงบศึกอย่างเจ็บปวด

(อีก 32 ปีให้หลังคือปี 1940 ฮิตเลอร์ที่แค้นเรื่องนี้มาก หลังถล่มฝรั่งเศสราบแล้วก็บีบให้ฝรั่งเศสต้องมาเซ็นสัญญาสงบศึก ในรถไฟตู้เดิม ณ จุดเดิมเป๊ะๆ เพื่อเอาคืน)

การเจรจาหยุดยิง ลงนามในตอนกลางคืน และมีผลบังคับใช้ในเวลา 11.00 น. ของวันถัดไป ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายที่รู้ข่าวเรื่องหยุดยิงในตอนเช้า ยังมีเวลาต่อสู้กันอีกก่อน 11 โมง (เพื่อชิงพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้) เหตุการณ์นี้ทำให้มีทหารตาย (อย่างเปล่าประโยชน์) รวมกัน 2,738 คนในวันสุดท้ายของสงคราม ความเศร้าตรงนี้ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ของ BBC (Last Day of World War One) และถูกใช้เป็นพล็อตตอนจบในหนังเรื่องนี้ด้วย (เข้าใจว่าไม่มีในต้นฉบับหนังสือ)

ในภาพรวม หนังเล่าอารมณ์ถึงความโดดเดี่ยวของเหล่าทหารแนวหน้า ความหดหู่ที่เพื่อนต้องตาย โดยเป็นการเล่าแบบไปเรื่อยๆ ช้าๆ มากกว่าการเล่าเรื่องตื่นเต้นแบบหนังฮอลลีวู้ดที่เราคุ้นเคย ดูจบแล้วเศร้าตาม ภาพสวย เพลงประกอบดี นักแสดงเล่นดี คะแนนนักวิจารณ์ออกมาสูงทีเดียว (92% บน Rotten Tomatoes)

ข้อเสียคือยาวไปนิดนึง (147 นาที) และมีคำเตือนว่ามีเลือดและความรุนแรงเต็มรูปแบบ แม้รู้ว่าเป็นหนัง แต่ทำสมจริงมากก็อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบสิ่งเหล่านี้