ช่วงหลังเห็นสติ๊กเกอร์ “โนนไทยทีม” อยู่ท้ายรถส่งของจำนวนมาก
ในฐานะคนโคราช ย่อมรู้จักอำเภอโนนไทย และพอเข้าใจได้ว่าคนจากอำเภอโนนไทยคงชวนๆ กันมาทำอาชีพขับรถส่งของกันเยอะ และรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนโดยใช้ชื่อว่า “โนนไทยทีม”
แต่คนโนนไทยมีเยอะขนาดนั้นเลยหรือ
เมื่อวันก่อนได้คำตอบ เพราะมีรถมาส่งของที่บ้านพอดี เจอสติ๊กเกอร์เลยสอบถามพี่คนขับ ได้ความว่าโนนไทยทีมเป็นกลุ่มใน Facebook แต่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนโนนไทยเพียงอย่างเดียว ใครก็สมัครเข้าร่วมกลุ่มได้ (ขณะที่เขียนมีสมาชิกประมาณ 1.3 แสนคน ไม่ได้หาข้อมูลละเอียดแต่น่าจะเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุด)
ส่วนสติ๊กเกอร์นั้นเป็นการทำแจกจ่ายกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และแปะไว้ท้ายรถเพื่อแสดงความเป็นชุมชน และหากไปส่งของที่ไหน เกิดปัญหา เกิดอุบัติเหตุ สมาชิกคนอื่นในกลุ่มผ่านมาก็จะมีธรรมเนียมจอดรถแวะมาสอบถาม ช่วยเหลือกันทันที
นอกจากโนนไทยทีมแล้ว ยังมีกรุ๊ปอื่นๆ อีกมาก อย่างที่พี่คนขับยกตัวอย่างมาให้ฟังคือ กล้วยไข่ซิ่ง เป็นทีมที่เริ่มจากคนเพชรบุรี แต่ก็เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วมด้วยเช่นกัน
ช่วงหลังๆ ด้วยหน้าที่การงาน ได้รู้จักกับชุมชนคนส่งอาหาร delivery จำนวนมาก คิดว่าแพทเทิร์นคงคล้ายๆ กันคือเป็นการรวมกลุ่มกันของเพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเชิงการงาน และหาเพื่อนพูดคุยคลายเหงา (ระหว่างคนร่วมวิชาชีพ) อย่างไม่เป็นทางการ แต่ยังไม่ไปไกลถึงขั้นรวมกลุ่มเพื่อต่อรองหรือจัดตั้งเป็นองค์กรจริงจัง
ฟังก์ชันของมันคงคล้ายกับบางส่วนของ guild หรือสมาคมอาชีพในอดีต เพียงแต่ด้วยพลังของอินเทอร์เน็ตและโซเชียล ทำให้ข้อจำกัดเรื่องพรมแดนหรือพื้นที่กายภาพหายไป (guild สมัยก่อนคงจำกัดด้วยเขตเมืองเท่านั้น) เราจึงเห็น guild ที่มีขนาดใหญ่ระดับแสนๆ คนได้ไม่ยากนัก
นอกจากการใช้กรุ๊ป Facebook ที่ติดตามได้ง่ายแล้ว โซเชียลอีกอันที่ได้รับความนิยมสูงคือกรุ๊ปไลน์ และ LINE OpenChat ที่ค้นหาและติดตามได้ยากกว่ามากด้วย
เท่าที่เคยอ่านกรุ๊ปเหล่านี้มาก็มีประเด็นน่าสนใจในเรื่อง self-organization หลายอย่าง การจัดการกันเองระหว่างชุมชน ดราม่าระหว่างชุมชนด้วยกันเอง การแยกตัวไปตั้งกรุ๊ปใหม่ ฯลฯ ซึ่งหลายอย่างก็เป็นของใหม่ในบริบทยุคไซเบอร์ ที่น่าศึกษากันลงลึกต่อไป