สัปดาห์ที่แล้ว (17-21 มิถุนายน 2567) สังเกตพบกลุ่มเมฆฝนที่มีแสงสีรุ้งลอยอยู่ข้างบน ขณะที่ออกมาเดินเล่นแถวบ้านในยามเย็น เลยเกิดความสงสัยว่ามันคืออะไร เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จนต้องไปค้นหาคำตอบ
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Iridescent Cloud แปลตรงตัวว่า “เมฆสายรุ้ง” (Iris = เทพแห่งสายรุ้งตามตำนานกรีก) หรือบ้างก็เรียกตรงไปตรงมาว่า Rainbow Cloud
สาเหตุก็เป็นเรื่องเดียวกับรุ้งกินน้ำ นั่นคือแสงอาทิตย์ตกกระทบหยดน้ำ (droplet) ในอากาศ แล้วกระจายออกเป็นแถบสีรุ้ง เพียงแต่หยดน้ำในอากาศมันดันไปลอยอยู่เหนือก้อนเมฆ เพราะความร้อนทำให้หยดน้ำลอยขึ้น แล้วโดนแสงอาทิตย์ที่อยู่เหนือเมฆเข้าพอดี เลยสะท้อนเป็นประกายสายรุ้งให้เราเห็น
เมฆสายรุ้ง Iridescent Cloud มักเกิดในสภาพอากาศร้อนชื้น เกิดกับเมฆฝน (หลังจากนั้นมักมีพายุฝนตามมา) และมักเกิดในยามเย็น สภาพแบบนี้อาจเกิดได้ยาก และเกิดเพียงแค่ระยะเวลาไม่นาน แต่เรามีโอกาสได้เห็น 2 วันไล่ๆ กันก็ถือว่าโชคดี และเป็นสิ่งที่อยากบันทึกเก็บไว้