Toy Story 4 เพิ่งออกฉาย ก็ได้ฤกษ์ดู Toy Story 3 (ดูช้าไป 9 ปี หนังออกปี 2010)
เรื่อง Toy Story 3 นี่มีเกร็ดส่วนตัวคือ เคยซื้อแผ่น DVD มาครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่ได้ดู แถมลืมไปแล้วว่าซื้อมา เคยซื้อซ้ำไปอีกทีหนึ่งด้วย (แล้วก็ไม่ได้ดูอีก!) รอบล่าสุดนี้จะเอามาดูก็ไม่รู้ว่าเก็บไว้ที่ไหน แถมเก็บเครื่องเล่น DVD ใส่กล่องไปนานแล้วซะด้วย สรุปว่าได้ดูผ่านระบบเช่าของ Google Play Movies ลดราคาพิเศษ 35 บาทแทน
เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งเตือนใจว่าการสะสม media แบบเดิมๆ (เช่นในกรณีนี้คือ DVD) มันมีปัญหาเรื่อง accessibility เยอะเหมือนกัน ดีที่ไม่ได้ลงทุนกับการซื้อแผ่นหนังสำหรับสะสม ราคาแพงๆ มาตั้งแต่แรก
กลับมาที่เรื่องของ Toy Story 3 ต้องบอกว่า ไม่ว่า Pixar จะออกหนังมาอีกสักกี่เรื่องก็ตาม แต่สัญลักษณ์และอัตลักษณ์ของ Pixar มาจากจุดเริ่มต้นคือ Toy Story ภาคแรก (1995) ดังนั้น Pixar จะต้องทำงานให้สุดฝีมือเพื่อรักษาระดับของคุณภาพไว้ ผลคือ Toy Story ทุกภาคได้คะแนนรีวิวออกมาดีเยี่ยมเสมอ ซึ่งหาได้ยากยิ่งสำหรับหนังที่มีภาคต่อเยอะๆ แบบนี้ ที่อาจมีบางภาคหลุดเรื่องคุณภาพไป (เช่น Shrek ภาคหลังๆ เป็นต้น)
เนื้อเรื่องของ Toy Story 3 เป็นการขมวดปมของ Andy’s Arc คือปิดตำนานของเด็กเล่นบ้านแอนดี้ เจ้าของ Woody, Buzz และของเล่นตัวอื่นๆ เพราะ Andy โตเป็นหนุ่มแล้ว ต้องย้ายออกจากบ้านไปอยู่มหาวิทยาลัย และต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับของเล่นเหล่านี้ดี
ประเด็นคำถามของ Toy Story 3 น่าสนใจ เพราะเป็นการตั้งคำถามทั้งฝั่งของเล่นเอง ว่าเมื่อเจ้าของเติบโตจนเลยวัยแล้ว คุณค่าของตัวของเล่นจะอยู่ที่ไหน ระหว่างจงรักภักดีกับเจ้าของเก่าแต่ต้องอยู่ในห้องเก็บของ หรือ ไปทำประโยชน์กับเจ้าของใหม่ เด็กรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่าของของเล่นมากกว่า
ในฝั่งของเด็กเจ้าของของเล่นที่เติบโต ก็เป็นคำถามในมุมกลับกันว่า จะทำอย่างไรกับของเล่นที่ผูกพันกันมานาน ระหว่างเก็บไว้ให้มีคุณค่าทางใจ หรือบริจาค/ทิ้งไปเพราะไม่ต้องการแล้ว (ทุกคนที่เคยเป็นเด็กมาก่อนย่อมผ่านประสบการณ์นี้มา ทำให้คำถามนี้ค่อนข้าง touch กับผู้ชมทุกคนเพราะมีประสบการณ์ร่วม)
เรื่องกราฟิกของหนัง CG เดี๋ยวนี้คงไม่ต้องวิจารณ์แล้ว เพราะสวยพอๆ กันหมดแล้ว (It does not matter anymore) จุดที่สนุกคงเป็นเรื่องเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ของหนัง เช่น ตัวละครอย่าง Barbie/Ken หรือ Totoro ที่ใส่เข้ามา