ต่อจาก Brutal Capitalism ได้ดูคลิปในซีรีส์เดียวกันของ CNBC เรื่องจำนวนชนชั้นกลาง (middle-class) ในอเมริกาที่หดตัวลงในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา (บทความประกอบคลิป)
ถึงแม้เนื้อหาในคลิปเป็นบริบทของอเมริกา (มีเรื่องระบบสวัสดิการที่เฉพาะตัว ฯลฯ) แต่คิดว่าใจความสำคัญก็ใช้ได้กับชนชั้นกลางในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ชนชั้นกลางหดตัวลง ก็มาจากภาพที่แคปมาคือการเพิ่มขึ้นของรายได้ (income) ของคนชั้นกลางนั้นไม่ได้โตตามผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานไปด้วย
ผลคือระบบทุนนิยมโตขึ้นในภาพรวม (จากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น) แต่ความมั่งคั่งนั้นไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มคนทำงานระดับบนๆ (upper income) ในขณะที่ชนชั้นกลางกลับไม่ได้มีรายได้โตตามเท่าไรนัก (ส่วนคนชั้นล่างก็จนเหมือนเดิม)
ในฝั่งของค่าครองชีพกลับสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อเองในภาพรวม บวกด้วยปัจจัยสำคัญ 3 เรื่องคือ
- Housing ราคาบ้าน-ค่าเช้าบ้านในอเมริกาที่โตขึ้นเร็วมาก
- Healthcare ภาระด้านประกันสุขภาพที่อเมริกาไม่มีประกันสุขภาพโดยรัฐมากนัก
- College Tuition ค่าเล่าเรียนที่พ่อแม่ต้องเก็บสะสมให้ลูกเข้าเรียนระดับวิทยาลัย
เมื่อรายได้ไม่โต รายจ่ายเพิ่ม ทำให้คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาใช้ชีวิตลำบากกว่าในอดีตช่วง 10-20 ปีที่แล้ว (ทั้งที่อาจทำงานที่เดิม ทำงานที่เดิม บ้านหลังเดิม) หรือบางคนก็หลุดลงไปเป็นกลุ่ม lower income ไปเลย
คำถามว่าทางแก้คืออะไร ในบริบทของอเมริกาคงเป็นเรื่อง safety net และสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่มากขึ้น (จึงไม่แปลกใจอะไรที่คนรุ่นใหม่ “เอียงซ้าย” มากขึ้น เพราะไม่พอใจระบบปัจจุบัน) แต่ในคลิปก็บอกว่าเอาจริงก็ไม่ง่าย อย่างแผนการ Build Back Better ของ Biden ก็ยังทะเลาะกันอยู่ในสภา
ส่วนอีกทางก็คือเพิ่มรายได้ ซึ่งกรณีของ The Great Resignation เราจะมองว่าเป็นการรวมตัวกันต่อรองครั้งใหญ่ถึงเรื่องค่าตอบแทน ก็ได้อีกเหมือนกัน และต้องรอดูว่าผลในระยะยาวของมันเป็นอย่างไร