หลังจากดู Godzilla Minus One แล้ว เลยสนใจและตามไปดู Shin Godzilla (หนังปี 2016) ต่อ
ทั้งสองภาคมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือเป็นการ “ตีความใหม่” (reinterpret) ของแฟรนไชส์ Godzilla ในยุคสมัยใหม่ (นับแบบญี่ปุ่นคือยุคเรวะ) โดยผู้กำกับที่เป็น “ยอดฝีมือคนนอก” มาจากจักรวาลหนังเรื่องอื่น กรณีของ Godzilla Minus One นั้นผู้กำกับ Takashi Yamazaki เคยกำกับหนังดราม่า-อนิเมมาอย่างโชกโชน ในขณะที่ Shin Godzilla ได้ Hideaki Anno ที่แบกชื่อ Evangelion ไม่มีข้อกังขาใดๆ ในแง่ผลงานเก่าก่อนอยู่แล้ว
ผู้กำกับทั้งสองคนตีความ Godzilla ไปคนละทาง โดย Yamazaki เลือกตีความเป็นหนังย้อนยุคช่วงหลังสงครามโลก ก่อนหน้าทุก timeline ในจักรวาล Godzilla ที่แล้วๆ มา ส่วน Anno เลือกตีความเป็นหนังยุคปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต ไม่มีไซไฟอื่นนอกจากตัว Godzilla ที่ผิดแผกจากโลกปัจจุบันเท่านั้น
แฟนๆ Evangelion ย่อมรู้ซึ้งถึง “ความเรียล” ของ Anno ที่เล่าเรื่องที่ซีเรียสจริงจัง เมื่อเขามีโอกาสได้ทำ Godzilla เขาจึงตีความมันออกมาแบบจริงจัง จริงจังไปอีกขั้นโดยเอามันไปผูกกับ “การเมือง” แบบญี่ปุ่นซะด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Shin Godzilla ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์สึนามิปี 2011 (5 ปีก่อนหนังฉาย) ที่ประเทศญี่ปุ่นเจอภัยพิบัติสำคัญรุนแรง (ระดับเดียวกับ Godzilla) และรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีกระบวนการขั้นตอนมากมาย ก็ถึงกับ “ช็อค” และทำอะไรไม่เป็น รับมือไม่ไหว เมื่อเจอกับเหตุฉุกเฉินเร่งด่วนขนาดนี้
Anno ตั้งใจ “วาง” Godzilla เป็นภัยพิบัติที่บุกโจมตีเกาะญี่ปุ่นแบบไร้สาเหตุ และสะท้อนการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ล่าช้า ไม่กล้าตัดสินใจใดๆ (ฉากสำคัญของเรื่องคือ ทหารส่งคำถามกลับมาต่อๆ กันหลายชั้นว่าจะโจมตี Godzilla ไหม และสุดท้ายคำถามกลับมายังนายก ซึ่งตัดสินใจว่าไม่ยิง และอีกคำถามที่นางเอกซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลอเมริกา เล่าว่าถ้าเป็นประเทศเรา คนตัดสินใจคือประธานาธิบดี แล้วประเทศคุณล่ะ ใครเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งน่าจะเป็นคำถามที่ยิงเข้าไปกลางใจผู้ชมที่เป็นคนญี่ปุ่น)
ภัยคุกคาม Godzilla นั้นมีความน่าสนใจขึ้นกว่าสึนามิปี 2011 ตรงที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีเวลาวางแผนรับมือถึง 2 รอบว่าจะเอายังไงกับมันดี (ต่างจากสึนามิที่ซัดมาตูมเดียวเลย) โดย Godzilla บุกขึ้นบกแล้วลงทะเลกลับไปใหม่รอบหนึ่ง ก่อนกลับมาอีกครั้งและ “หยุดนิ่ง” อยู่กลางเมืองหลายวัน เพื่อให้ตัวละครในเรื่องมีเวลาคิดและรับมือ
อย่างไรก็ตาม Godzilla ของภาค Shin ก็น่ากลัวกว่าเดิมตรงที่มันมีวิวัฒนาการ กลายร่างตัวเองได้เรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนมาหลายวัน คิดกันหลายชั้น ก็แทบใช้การไม่ได้ในทันทีเมื่อ Godzilla พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น อันนี้ถือเป็นความแปลกใหม่ที่น่าสนใจมาก
การต่อสู้กับ Godzilla ของภาค Shin มีความคล้ายกับภาค Minus One ที่เป็น “การต่อสู้ด้วยวิทยาศาสตร์” กรณีของภาค Minus One จับไปถ่วงน้ำให้ความดันเปลี่ยนแปลงฉับพลัน ส่วนภาค Shin นั้นเอาไปแช่แข็ง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นแนวทางแบบเรียลลิสติกของผู้กำกับทั้งสองคน ที่ใช้พลังของประชาชนคนธรรมดา ร่วมแรงร่วมใจ บวกกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการรับมือกับภัยคุกคาม ที่แสดงออกผ่านสัญญะอย่างสัตว์ประหลาดยักษ์นาม Godzilla
ข้อเสียของ Shin Godzilla คือมันเป็นหนังที่เล่าเรื่องเร็วมาก แทบไม่ปูพื้นตัวละครว่าเป็นใครมาจากไหน มีเพียงข้อความขึ้นอธิบายชื่อ ตำแหน่ง แล้วก็ให้ตัวละครเดินหน้าเลย ถ้าไม่ตั้งใจดูเต็มที่อาจตามเรื่องไม่ทัน (น่าจะเป็นธรรมเนียมหรือวิถีปฏิบัติของ Anno อยู่แล้วด้วย)
Shin Godzilla เล่าเรื่องผ่านตัวเอก รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นักการเมืองดาวรุ่งที่พยายามแก้ปัญหาระบบราชการอันล่าช้า (รับบทโดย Hiroki Hasegawa ซึ่งมีความคล้ายทิม พิธา อยู่หลายมุม) สอดแทรกด้วยตัวเอกหญิงลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน ที่บททูตพิเศษของรัฐบาลอเมริกา มันดูแปลกๆ อยู่พอสมควร แต่ความสวยและมาดของนักแสดง Satomi Ishihara ก็ทำให้หนังดูไม่เครียดจนเกินไปนัก
โปรดักชันของหนังนั้นสัมผัสได้ว่าจัดเต็มมาก โดยเฉพาะฉากอพยพผู้คนหนีจาก Godzilla ตามสถานที่ต่างๆ ในญี่ปุ่น เห็นแล้วรู้เลยว่าทุ่มทุนเยอะในการถ่ายทำฉากที่มีตัวประกอบเยอะๆ ขนาดนี้ ส่วน CG ของตัว Godzilla และฉากทำลายล้างเมืองต่างๆ ก็ทำออกมาได้เนียนตาดี แต่หางมันยาวไปหน่อยมั้ย
ถึงแม้หนังทำออกมาได้ดีเลย (ยิ่งสำหรับคนที่ชอบหนังการเมือง) แต่หลังดูจบตามไปอ่านเบื้องหลัง แล้วพบว่าตัวของ Anno เองลังเลที่จะรับงานนี้ในตอนแรกด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลว่าเขายังเหนื่อยจากการทำ EVA 3.0 และตัวเขาเองก็ไม่มั่นใจในตอนแรกว่าจะสามารถทำหนัง Godzilla ออกมาได้ดีสมกับชื่อเสียงที่ Godzilla สั่งสมเอาไว้ แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจรับงาน
ให้คะแนน 8/10 เดี๋ยวตามไปหาดู Shin Ultraman และ Shin Kamen Rider ของ Anno ต่อ