in Economics

Robert Reich: Inequality in America

หลังจากดูคลิปเรื่อง The Great Resignation ของ Robert Reich ก็เลยตามไปดูผลงานอื่นๆ พบว่าแกกำลังเปิดคลาสสอนวิชา Wealth and Poverty ที่ UC Berkley พอดี โดยโพสต์คลิปการบรรยายเป็นสาธารณะทุกวันศุกร์ ดูจาก YouTube ได้เลย

วันนี้เลยมีโอกาสได้ดูคลิปการบรรยายคลาสครั้งที่ 1 ที่เล่าประวัติเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา

Reich นั้นเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาลคลินตันชุดแรก (1992-1996) และมีเอี่ยวในรัฐบาลเดโมแครตตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา คือเป็นที่ปรึกษาในรัฐบาลคาร์เตอร์ (1978-1982) และรัฐบาลโอบามา (2008-2016) จะมีแต่รัฐบาลไบเดนเท่านั้นที่ยังไม่ได้ยุ่งเกี่ยว

ในแง่วิชาการ Reich เคยสอนหนังสือวิชา Public Policy ทั้งที่ Harvard และ Berkley โดยปัจจุบันก็ยังสอนอยู่ที่ Berkley แม้อายุ 75 ปีแล้ว

มุมมองเศรษฐกิจของ Reich ถือเป็นฝ่ายซ้าย (ตามนิยามแบบอเมริกัน) ส่งเสริมสิทธิแรงงาน การตั้งสหภาพแรงงาน การกระจายความมั่งคั่ง การเก็บภาษีคนรวย และแนวคิด universal basic income (UBI)

ในคลิปการบรรยายตอนแรก Reich เล่าถึงประวัติศาสตร์ด้านความเหลื่อมล้ำของอเมริกา ผ่านชาร์ทหลายชุด เลยแคปมาจดไว้เฉพาะชาร์ทที่สำคัญๆ

เริ่มจากอย่างแรกที่สุดคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา วัดจาก GDP แล้วเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา (ปรับค่าเงินเป็นดอลลาร์ของปี 2012 เหมือนกันหมดแล้ว) นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจบางช่วงบางตอน เช่น ปี 2007-2008 หรือปี 2020 แล้ว กราฟโตขึ้นตลอด

แต่รายได้ของคน (wage) กลับไม่ได้เพิ่มในอัตราเดียวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (productivity) โดยในช่วงเวลา 40 ปี (1980-2020) เศรษฐกิจโต 61.7% ในขณะที่รายได้ของคนทำงานเฉลี่ยโต 23.1%

คำถามคือเงินเหล่านั้นหายไปไหน?

คำตอบคือเงินไปกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนรวยสุด Top 1% ซึ่งมีรายได้เติบโตถึง 157%

หรือถ้าเราไปดูรายได้ของคนสุดยอดรวย Top 0.1% รายได้โตเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 343%

ถ้าลองดูชาร์ทอีกชุด ในปี 1980 คนจนและคนชั้นกลาง มีรายได้โตขึ้นเร็วกว่าคนรวยมากๆ ด้วยซ้ำ

แต่พอเป็นปี 2014 กลับทิศกันเลย คนจนรายได้แทบไม่เพิ่มเลย แต่คนรวยที่สุดรายได้พุ่งทะยานเป็นเสาไฟ

Reich ชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทศวรรษ 1920s ก่อนฟองสบู่เศรษฐกิจแตก และเกิดวิกฤต The Great Depression และตัวเลขสัดส่วนรายได้ของคนรวยในยุค 2000-2010s เป็นต้นมาก็เริ่มซ้ำรอยเดิม

ในช่วงหลังสงครามโลกเป็นต้นมาจนก่อนถึงปี 1980 อัตราการเติบโตของรายได้ของคนแต่ละกลุ่ม คนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดเติบโตพอๆ กันคือประมาณ 2% กว่าๆ

แต่หลังปี 1980 เป็นต้นมา คนรวยมีรายได้เพิ่มเร็วกว่ามาก ในขณะที่กลุ่มคนจนที่สุดมีรายได้ลดลงด้วยซ้ำ

ชาร์ทนี้ก็คล้ายกับชาร์ทก่อนๆ คือ รายได้ของคนกลุ่ม Top 1% เพิ่มขึ้นเร็วกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

ความมั่งคั่ง (wealth) ของคนกลุ่มตรงกลาง 60% ตอนนี้รวมกันมีน้อยกว่าความมั่งคั่งของกลุ่ม Top 1% ที่รวยที่สุดไปแล้ว

ถ้าคัดมาเฉพาะเศรษฐี Top 400 คนแรกของอเมริกา (Top 0.00025%) ความร่ำรวยรวมกันเกือบ 40% ของ GDP ประเทศแล้ว

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังมีปัจจัยเรื่องเชื้อชาติเข้ามายุ่งเกี่ยว อันนี้เดาได้ไม่ยากว่า คนขาว -> คนดำ

ความเหลื่อมล้ำระหว่าง generation ก็มีอยู่จริง สัดส่วนของคนรุ่นใหม่ที่รวยกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ลดลงจาก 90% ในปี 1940 มาเหลือ 50% ในปี 1984

พูดง่ายๆ คือเสื่อผืนหมอนใบ หรือ American Dream สร้างตัวขึ้นมานั้นมีจริงในยุคหนึ่ง แต่ตอนนี้อาจไม่มีแล้ว

คนรุ่น Baby Boomers ถือครองความมั่งคั่งมากกว่า Gen X อยู่มาก ในขณะที่ Gen X ก็นำหน้า Millenials อีกพอสมควร

เลคเชอร์ในตอนแรกยังเป็นการฉายให้เห็นภาพว่า ความเหลื่อมล้ำมีจริง (ทั้งช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนแต่เดิมที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ, ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติพันธุ์ และความเหลื่อมล้ำระหว่าง generation)

ส่วนปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมจุดตัดของตัวเลขถึงอยู่ที่ปี 1980 เป็นสำคัญ คงต้องติดตามกันต่อในคลาสที่สอง