ก่อนอื่นต้องบันทึกไว้ว่า 26 มิถุนายน 2020 ลิเวอร์พูลสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ (ถึงแม้จะไม่ค่อยเท่นักเพราะแมนซิตี้แพ้เอง แต่ก็เอาเถอะ) ในฐานะแฟนของ Jurgen Klopp ก็ยินดี และแสดงความยินดีกับลิเวอร์พูลด้วย
ความสำเร็จดีใจได้ย่อหน้าเดียวพอ (โดยเฉพาะของทีมอื่น) สิ่งที่อยากเขียนถึงคือ rivalry หรือการเป็นคู่แข่งในเชิงฟุตบอล ซึ่งกำลังจะเกิดสภาวะขั้ว “ลิเวอร์พูล-แมนซิตี้” ขึ้นมา (หวังว่านะ)
หากย้อนดูประวัติย้อนหลังของพรีเมียร์ลีก 30 ปี อาจพอแบ่งได้เป็นทุก 5 ปี
- ช่วงปีแรกๆ ของพรีเมียร์ลีก (1992-1997) เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างแมนยู กับ Blackburn/Newcaster
- ก่อนที่ยุคถัดมา (1997-2002) เป็นคู่ของแมนยูกับอาร์เซนอล
- ยุคที่สาม 2003-2010 เชลซีกลายเป็นทีมหน้าใหม่ที่เข้ามาร่วมแข่งขัน ในขณะที่อาร์เซนอลดร็อปลงไป กลายเป็นเชลซี-แมนยู และมูริญโญ่-เฟอร์กี้
- 2010-2015 อาร์เซนอลหายไปจากกลุ่มท็อป และมีแมนซิตี้เข้ามาเป็นทีมมหาอำนาจใหม่ ชิงแชมป์กับเชลซี ในขณะที่แมนยูเริ่มดร็อปหายไปหลังหมด Alex Ferguson
- ปี 2015-2016 จักรวาลถูกรีเซ็ตเพราะเลสเตอร์ แถมปีนั้นทีมใหญ่ฟอร์มตกกันถ้วนหน้า
- ฤดูกาล 2016-2018 ยังเป็นความมึนงงหลังเลสเตอร์ โดยเชลซีและแมนซิตี้ผลัดกันได้แชมป์ แต่ลิเวอร์พูลก็เริ่มมาแรง (ถึงขั้นเข้าชิง UCL แม้ว่าปีนั้นแพ้ก็ตาม เพื่อนหลายคนตามไปดูถึงเคียฟ) แต่ความเป็นมหาอำนาจยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก
- ฤดูกาล 2018-2020 เป็นต้นมา กลายเป็นสภาพแมนซิตี้-ลิเวอร์พูล ที่ขับเคี่ยวกันอย่างชัดเจน
ด้วยสภาพการขับเคี่ยวกัน ณ เวลานี้ (ผลัดกันเป็นแชมป์คนละปี) ถ้าย้อนดูประวัติเก่าแล้ว เราก็น่าจะเห็นคู่นี้ต่อสู้กันไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี และอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิด “ยุคทองของฟุตบอลอังกฤษ” อีกครั้ง หลังทีมจากสเปนผูกขาดความสำเร็จในแชมเปี้ยนส์ลีกติดต่อกันมาหลายปี
อีกปัจจัยที่น่าสนใจคือ การจับคู่ของผู้จัดการทีมคือ Pep และ Klopp ที่ลากยาวมาตั้งแต่สมัยอยู่เยอรมัน (Bayern v Dortmund) ซึ่ง Klopp เองก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า Pep คือ ‘greatest rival ever’
อ่านเจอบทความใน SBNation พูดถึงว่าภาวะ rivalry แบบนี้หายจากพรีเมียร์ลีกไปนาน พอเกิดขั้วอำนาจใหม่ 2 ฝ่ายที่มีพลังพอๆ กัน ย่อมทำให้การแข่งขันของลีกสนุกขึ้นในภาพรวม
สิ่งที่กลับยังไม่เห็นมากนักคือ การแข่งขันระหว่างนักเตะที่เป็นเพลย์เมกเกอร์ (เช่น คู่ของ Messi-Ronaldo) อาจเป็นเพราะว่าทั้งสองทีมเน้นการเล่นเป็นทีมเวิร์ค ไม่มีนักเตะที่เป็นสตาร์แบบโดดๆ เหมือนคู่ Messi-Ronaldo ชัดเจนนัก ทำให้ภาพลักษณ์ของการแข่งขันไปอยู่ที่ทีม-ผู้จัดการ แทนที่จะเป็นทีม-นักเตะ