ถ้าถามว่าแนวเกมที่ชื่นชอบคืออะไร น่าจะมีอยู่ 3 แนวหลักๆ คือ platformer, J-RPG และ turn-based แต่ถ้าถามว่าเกมแนวไหนที่เป็น defining ตัวตนอย่างจริงจังก็ต้องเป็น platformer นี่แหละ (โดยเฉพาะ Mario และ Rockman)
โลกยุค 3D มีแนวเกมอื่นๆ ให้เล่นมากมาย ทำให้ความสำคัญของเกม 2D platformer ลดลงไป (และไปโตในสายอินดี้แทน ในเกมจำพวก metroidvania)
แต่ช่วงหลายปีให้หลังก็มีเกม 2D platformer ที่น่าสนใจอย่าง Ori and the Blind Forest ของ Moon Studios จากออสเตรีย ที่เป็นเกมแบบ 2D ด้วยกราฟิก 3D
Ori and the Blind Forest ออกมาตั้งแต่ปี 2015 และดังมานานแล้ว แถมเคยซื้อมาบน Steam มานานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้เล่น (ดองนั่นเอง) จนออกภาคสองคือ Ori and the Will of the Wisps ในปี 2020 ที่ได้เสียงชื่นชมมากกว่าเดิม ดูเทรลเลอร์แล้วน่าสนใจเลยไปขุดเกมภาคแรก
ทยอยเล่นในช่วงปีใหม่วันละประมาณ 1 ชั่วโมงจนจบ (ใช้เวลาจบเนื้อเรื่องหลักราว 10 ชั่วโมง เก็บดันเจี้ยนเสริมและเก็บของให้ได้ครบเกือบทุกอย่าง 99% จนหายคาใจอีกประมาณ 3 ชั่วโมง ความยากระดับ Normal) พอจบแล้วก็ได้เวลามาเขียนถึงสักที (ช้าไป 6 ปี)
Ori and the Blind Forest เป็นเรื่องของภูติแห่งแสง (ชื่อ Ori ตัวขาวๆ ในรูป) ที่หลุดกระเด็นออกมาจากต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะตาย เลยต้องออกผจญภัยเพื่อฟื้นฟูชีวิตของต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์กลับมา
พล็อตของ Ori ออกจะงงๆ เล็กน้อย (และมี twist ด้วยนิดหน่อย) ถ้าจะมีประเด็นให้ติก็เป็นเรื่องพล็อตนี่แหละ ที่เล่าได้ไม่ค่อยน่าสนใจนัก (ใช้วิธีเล่าผ่าน text dialogue สั้นๆ) และเล่นมาจนจบผมก็จำชื่อตัวละครอื่นนอกจาก Ori ไม่ได้เลย
ส่วนเกมเพลย์ มีความใกล้เคียงกับ Rockman X เป็นอย่างมาก เพราะ Ori มีเพื่อนเป็นลูกแก้วศักดิ์สิทธิที่ทำหน้าที่ “ยิงแสง” โจมตีให้ (แถมเป็นการยิงแบบวิ่งหาศัตรูให้เอง ไม่ได้ยิงเป็นแนวตรง) และมีความสามารถในการเหาะเหินเดินอากาศมากมาย เช่น เกาะกำแพง กระโดดสูง กระโดดสองชั้น แดชกลางอากาศ ร่อนขนนก ฯลฯ รวมถึงท่าที่ยากที่สุดคือ “Bash” หรือการกระโดดไปเจอลูกไฟศัตรูที่ลอยกลางอากาศแล้วเปลี่ยนทางของตัวเรา ที่ฝึกอยู่นานกว่าจะใช้ออกคล่อง
ความยากของเกมจึงไม่ได้อยู่ที่การโจมตีศัตรูสักเท่าไร แต่เป็นการออกแบบเลเวลที่ทำให้เราต้อง “เหาะเหินเดินอากาศ” ด้วยท่าต่างๆ ตามความสามารถที่ค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติมไปตลอดเกม หลายฉากเราต้องฝ่าดงหนามที่แทบไม่มีจุดให้ยืนเลย ถือเป็นพัซเซิลที่ต้องใช้ความคิด ผสมกับรีแอคชั่นของการกดปุ่มหลายๆ ปุ่มไปพร้อมกัน (ก็ยังดีที่สมัยวัยรุ่นเล่นเกมแนวนี้มาเยอะ พอเอาตัวรอดได้)
เวิลด์ของ Ori เป็นธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ป่าดิบชื้น หุบเขา ต้นไม้ยักษ์ หนองบึง ภูเขาไฟ ช่องโพรง ฯลฯ กราฟิกทำได้สวยงามมากๆ (ถือเป็นจุดเด่นของเกมนี้เลย) แถมการที่กราฟิกเป็น 3D ยังช่วยเพิ่มลูกเล่นให้หลายๆ ฉาก เช่น การเดินเปลี่ยนจุดจะทำให้เลเยอร์ของฉากเอียงไปจากปกติบ้าง อย่างฉากน้ำตามภาพข้างบน
การออกแบบฉากใน Ori ก็น่าสนใจเพราะเป็นฉากใหญ่ฉากเดียวที่เดินต่อกันได้หมด (มีระบบวาร์ปช่วยให้เดินลัดได้) และมีการซ่อนปริศนา ซ่อนของต่างๆ เอาไว้มากมาย ที่เราต้องย้อนกลับมาเอาในภายหลังเมื่อได้ความสามารถบางอย่างแล้ว (เช่น กระทืบพื้น หรือ กระโดดสูง) ภาพรวมถือว่าท้าทายเมื่อเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า และเพลินไปกับการสำรวจโลกของ Ori แบบกว้างใหญ่
เนื้อเรื่องของ Ori แบ่งออกเป็น 3 องค์หลักๆ ตามสิ่งที่ต้องไปฟื้นฟูให้กลับสภาพเดิม ได้แก่ น้ำ ลม และไฟ ที่เป็นฉากสุดท้าย ข้อเสียอีกอย่างที่ผมพบคือเกมนี้ไม่มี Boss Fight ทำให้ไปไม่สุดเท่าที่ควรจะเป็น (ตามเนื้อเรื่องมันควรมี Boss Fight ซึ่งก็มีนะแต่อยู่ในภาค 2) ตอนจบของแต่ละองค์จะกลายเป็นฉาก Great Escape หนีออกจากสภาพแวดล้อมในฉากนั้น โดยมีระยะเวลาที่จำกัดแทน (บางอันก็ยากมาก ต้องกดเก่ง จังหวะเป๊ะจริงๆ ตายเป็นหลายสิบตัว ผมเล่นจบด้วยการตายไป 500 ตัวได้)
ภาพรวมคือสนุกและประทับใจมาก แถมจะตามไปเล่นภาค 2 ต่อไป
ให้คะแนน 9/10
- ภาพสวย เกมเพลย์ดี ออกแบบฉากน่าสนใจ
- หักเรื่องการเล่าเรื่อง และการไม่มีบอส
ทริคเดียวในเกมนี้ที่แนะนำคือ ขยันเซฟบ่อยๆ เพราะเกมนี้เซฟจากตรงไหนก็ได้ (ยกเว้นตรงที่มีศัตรู) โดยใช้พลังงาน 1 ขีดซึ่งแชร์กับพลังงานที่ใช้ชาร์จลูกแก้วให้ระเบิดได้ เพราะเกมค่อนข้างยาก และเรามักไปตายกับหลุม หนาม หรือกับดักโดยไม่รู้ตัวเอาง่ายๆ พอต้องเดินใหม่ไกลๆ ก็น่าหงุดหงิดบ้างเหมือนกัน
เกมมีให้เล่นบน Xbox, PC, Switch โดยเวอร์ชันที่เล่นคือ PC (Steam) ด้วยจอย Xbox One
หมายเหตุ: เกมเวอร์ชันที่เล่นเป็น Definitive Edition เพิ่มดันเจี้ยนลับมาอีก 2 ฉาก และทักษะเพิ่มอีก 2 อย่าง ซึ่งเกมออกมาภายหลัง (ปี 2016) และอาจไม่มีคู่มือหรือทริคในอินเทอร์เน็ตมากเท่ากับเกมภาคต้นฉบับในปี 2015