in Announcement

Offloading Facebook

ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อกใหม่ markpeak.net

เดิมทีผมมีเว็บบล็อก isriya.com ที่ใช้งานมานานนับสิบปี แต่ช่วงหลังเขียนน้อยลงมาก เพราะมีแพลตฟอร์มโซเชียลอื่นๆ ที่เขียนง่ายกว่า สะดวกกว่า สื่อสารกับผู้คนได้กว้างกว่าคือ Facebook

แต่ช่วงหลังโดยเฉพาะในปี 2018 เป็นต้นมา Facebook เต็มไปด้วยข่าวแย่ๆ ในเชิงลบมากมาย พลอยทำให้เราอยากลด-ละ-เลิก Facebook ตามไปด้วย

เหตุผลที่ผมอยากลดละเลิกมีหลายอย่าง แต่เหตุผลหลักก็เป็นเรื่องพื้นฐานคือ ไม่อยากพึ่งพา Facebook มากจนเกินไป ไม่อยากให้ข้อมูลของเราอยู่บน Facebook แต่เพียงอย่างเดียว เราควรจะ control ข้อมูลของเราได้เอง

แต่ครั้นจะหักดิบเลิกใช้ Facebook อย่างถาวรตามแคมเปญ #deletefacebook ก็ไม่ง่ายเลย ด้วยอิทธิพลที่ Facebook มีต่อชีวิตของเราในทุกวันนี้ ความเป็น network effect ของมันทำให้เลิกใช้ Facebook ได้ยากมาก

จึงก่อให้เกิดคำถามว่า เราไม่มีทางเลือกตรงกลางๆ เลยงั้นหรือ ระหว่างสองสุดปลาย คือใช้งาน Facebook อย่างเต็มที่ กับเลิกใช้ Facebook ไปเลย

มานั่งคิดวิเคราะห์ดูว่าเราใช้งาน Facebook เพราะอะไร ก็ค้นพบว่าประกอบด้วย 3 ปัจจัย

  • Connection – เพื่อน/คนรู้จักของเราแทบทั้งหมดอยู่บน Facebook (แถมบางคนเพียงที่เดียวเท่านั้นด้วย) อันนี้คือ Friend Lists ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของ Facebook และคงไม่มีอะไรมาแทนได้ในเร็ววัน
  • Communication – ใช้สื่อสารกับเพื่อนๆ ข้างต้น นั่นคือ Messenger ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวของ Facebook  ที่แชร์รายชื่อเพื่อนกับ Facebook Social ตัวหลัก และคงไม่มีอะไรแทนได้เช่นกัน เพราะคุณค่ามันอยู่ที่รายชื่อเพื่อน
  • Content แบ่งออกเป็นขาเสพกับขาสร้าง
    • ขาเสพ (Consume) – เนื้อหาหลายอย่างมีแค่บน Facebook เช่น โพสต์จากเพื่อนบางคน เนื้อหาจากบางเพจ ซึ่งเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้งานมันต่อไปในฐานะผู้เสพ
    • ขาสร้าง (Create) – เนื้อหาที่ตัวผมเองโพสต์ขึ้นไปบน Facebook ซึ่งก็แยกย่อยได้อีกว่าเป็นเนื้อหาแบบ private (ถ่ายรูปแท็กเพื่อน) กับเนื้อหาแบบ public (แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ)

หลายส่วนของ Facebook คงไม่สามารถหาอะไรแทนได้ตามที่เขียนไว้ข้างต้น เพราะมันผูกกับ “เพื่อน” ของเราที่อยู่บน Facebook ด้วย

แต่สิ่งที่สามารถดึงออกมาจาก Facebook ได้คงเป็นเนื้อหาส่วนที่เป็น public post ซึ่งก่อนหน้านี้ผมโพสต์ลง Facebook มาโดยตลอด

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายเนื้อหาส่วนนี้ออกมาจาก Facebook คำถามถัดไปคือจะย้ายไปที่ไหน ไปโพสต์ลง Twitter คงไม่เวิร์คเพราะเนื้อที่จำกัดมาก, จะย้ายไป Tumblr ก็ดูเป็นแพลตฟอร์มที่ไร้อนาคตแล้ว, จะไป Medium มันก็คิดเงินคนอ่าน, จะกลับไป Blogger ก็โบราณเกินไป, ส่วนแพลตฟอร์มบล็อกอย่าง WordPress.com ก็มีข้อจำกัดอย่างมาก (เอาง่ายๆ คือถ้าอยากใช้งานโดเมนของตัวเองต้องจ่ายเงิน)

มองซ้ายมองขวาแล้วก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลับมาเขียนบล็อกของตัวเอง ในระบบที่ตัวเองควบคุมได้ 100% ซึ่งก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผมคิดอยากลดการพึ่งพา Facebook ลง แบ่งบางส่วนออกมาจาก Facebook ให้จงได้ (เป็นที่มาของชื่อ offloading Facebook ตามชื่อโพสต์นี้)

ภาพจาก Facebook

ก่อนหน้านี้ผมมีบล็อก isriya.com ที่ใช้งานมานาน แต่ตัวระบบเบื้องหลังเป็น Drupal ที่มีความซับซ้อนสูง อยากจะลองอะไรใหม่ๆ ก็ทำได้ค่อนข้างยาก บวกกับมีโดเมน markpeak.net ที่จดไว้สักระยะแล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน จึงตัดสินใจ start fresh เริ่มต้นใหม่กับเว็บไซต์ใหม่ ระบบใหม่ (เป็น WordPress ที่ดูแลรักษาง่ายกว่า) ที่สามารถทดลองไอเดียใหม่ๆ ได้ง่ายกว่ากันมาก

ในฐานะที่เขียนบล็อกมาสิบกว่าปี ผ่านยุคสมัยก่อนโซเชียลจนมาถึงยุคโซเชียล ผมตระหนักดีว่าจุดอ่อนของบล็อก (เมื่อเทียบกับโซเชียล) คือขาดความเชื่อมโยงกับผู้อ่านแบบ seamless ทั้งในแง่การค้นพบ (discovery) และปฏิสัมพันธ์ (engagement/interaction)

ถ้าอธิบายเป็นภาษามนุษย์มากขึ้นคือ บล็อกไม่มีระบบแจ้งเตือนแบบที่โซเชียลมี (และคนจำนวนมากคุ้นเคยในการใช้งาน) และไม่มีระบบสนทนาสร้างปฏิสัมพันธ์ (like/comment/share) เพื่อให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราได้ง่ายๆ

บล็อกอันนี้จึงพยายามออกแบบให้ replicate ฟังก์ชันข้างต้นที่มีใน Facebook ให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าคงไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็จะพยายามทุกทาง

  • ระบบแจ้งเตือนเนื้อหาใหม่: จะพยายามทำให้ได้ทุกช่องทาง เพราะผู้อ่านแต่ละคนมีพฤติกรรมใช้งานแตกต่างกันไป จึงมีทางเลือกทั้ง Web Notification, RSS Feed, Email Subscription รวมถึงโพสต์ลง Twitter ด้วย
  • ระบบพูดคุยสนทนา: จากประสบการณ์ที่ลองใช้ระบบคอมเมนต์มาหลายตัว คนส่วนใหญ่สะดวกใจกับการแสดงตัวตนผ่าน Facebook ID อยู่แล้ว (เพราะเป็นผู้ใช้กลุ่มเดียวกับที่คอมเมนต์ในระบบ Facebook Posts) ดังนั้นเพื่อให้การสนทนาสะดวกที่สุด ไม่ต้องล็อกอินให้เสียเวลา ก็ใช้ Facebook Comments ไปเลยตรงๆ

จากระบบที่วางเอาไว้ คิดว่าเพื่อนๆ หรือผู้ติดตามผม คงสามารถติดตามเนื้อหาใหม่ๆ ได้สะดวก และมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ โดยที่ประสบการณ์ใช้งานไม่แตกต่างจากบน Facebook มากนัก

ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องการสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผมแล้ว

ที่ตั้งใจไว้คือพยายามเขียนให้ได้วันละ 1 โพสต์ ตลอดทั้งปี 2019 ก็หวังว่าจะทำได้สำเร็จครับ