in Movies

Luca

ภาพยนต์การ์ตูนแอนิเมชันประจำปี 2021 ของ Pixar คือเรื่อง Luca ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์เงือกริมชายฝั่งริเวียร่าที่อิตาลีช่วงหน้าร้อนในยุค 1960s

นิยามบนเว็บไซต์ Pixar ระบุเอาไว้เองว่า “Italy, Summertime and Sea Monsters”

Luca เป็นหนังแนว coming of age มิตรภาพและการเติบโตของเด็กวัยสิบกว่าขวบ เนื้อหาใสๆ ภาพสวยๆ ดูจบแล้วจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากหนัง Pixar เรื่องอื่นๆ ที่เน้นขมวดปมขยี้อารมณ์อยู่พอสมควร ฟีลลิ่งจะมีส่วนผสมของหนัง Ghibli ที่เรื่อยๆ เอื่อยๆ ชิวๆ เข้ามาด้วย

เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงมาจากตัวผู้กำกับ Enrico Casarosa ชาวอิตาเลียน ที่เดบิวในฐานะผู้กำกับเป็นครั้งแรกด้วย (Pixar กำลังอยู่ระหว่างยุคเปลี่ยนผ่านผู้กำกับเป็นรุ่นใหม่ ซึ่งจะทยอยมีผลงานออกมาเรื่อยๆ เรื่องถัดไปคือ Turning Red)

Luca ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Casarosa เพราะเขาเอาชีวิตตัวเองในวัยเด็ก (อาศัยอยู่ที่เจนัว ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของริเวียร่า) มาทำเป็นหนัง แม้แต่ชื่อของเพื่อนพระเอกคือ Alberto ก็เป็นชื่อเพื่อนของ Casarosa จริงๆ ในวัยเด็กที่มีอิทธิพลต่อเขา (หน้าตา Alberto ตัวจริงๆ ดูในคลิป)

Casarosa เคยกำกับหนังสั้นชื่อว่า La Luna มาก่อนแล้วในปี 2011 ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กชายริมฝั่งทะเลอิตาลีเหมือนกัน งานภาพแนวสีน้ำของเขาได้อิทธิพลมาจาก Ghibli อย่างชัดเจน (เขาบอกว่าโตมากับเรื่อง Future Boy Conan ซีรีส์อนิเมฉายทีวีของ Hayao Miyazaki ในปี 1978)

ส่วนการออกแบบตัวละครก็ได้อิทธิพลมาจากสายสต๊อปโมชั่น ทั้ง Studio Aardman และ Wes Anderson ส่งผลให้โมเดลตัวละครใน Luca จะคล้ายๆ งานสต๊อปโมชั่นที่มีความไม่สมดุล มากกว่าการเป็น CG สมบูรณ์แบบ

ดูจบแล้วคิดว่า Luca น่าสนใจในแง่การตีความมนุษย์เงือกในแบบใหม่ (ขึ้นบกแล้วกลายเป็นคนได้ทันที) การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่สดใสและน่าติดตาม งานภาพที่สวยงามตามมาตรฐาน Pixar

เราไม่ได้เห็น Pixar โชว์ฉากทะเลมานานแล้วนับตั้งแต่ Finding Dory (2016) กลับมารอบนี้ก็ยังทำทะเลอลังการเหมือนเดิม แต่ที่เหนือกว่าทะเลคงเป็นเมือง Portorosso (แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Port Red) เมืองสมมติที่อยู่ริมทะเล ให้บรรยากาศเมืองเล็กน่ารัก สดใส มีชีวิตชีวา (ต้นแบบมาจากหลายๆ เมืองในแถบนั้น แต่ว่ากันว่าเมืองหลักคือ Vernazza ซึ่งดูรูปแล้วก็คล้ายจริงแฮะ)

สิ่งที่คิดว่าด้อยไปนิดคือรายละเอียดของเรื่อง หลายอย่างที่บิ้วมากลับไม่ถูกใช้งาน เช่น ปมเรื่องพ่อของ Alberto ว่าหายไปไหน, อดีตของ Massimo พ่อของ Giulia ว่าทำไมถึงสนใจมอนสเตอร์สมุทร รวมถึงยายของ Luca ที่น่าจะมีบทบาทได้มากกว่านี้อีกสักหน่อย พอหนังตัดจบไปดื้อๆ โดยไม่ได้คลี่คลายประเด็นเหล่านี้ เลยรู้สึกว่ามันขาดๆ ไป อีกนิดนึงก็สมบูรณ์แล้ว

หมายเหตุ: Pixar จะออกหนังสั้นเรื่อง Ciao Alberto ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ก็หวังว่าจะเติมเนื้อเรื่องของ Alberto เพิ่มเข้ามาได้บ้าง แต่ไม่ว่าจะมีหนังสั้นอันนี้หรือไม่ก็ตาม หนังก็ควรต้องสมบูรณ์ในตัวกว่านี้อยู่ดี

อ่านบทวิจารณ์จากหลายๆ ที่แล้วพบว่า ประเด็นเรื่องการปกปิดตัวตนของ Luca และ Alberto ว่าเป็นมนุษย์เงือกนั้น ถูกตีความตามประเด็นของยุคสมัยในเชิงว่า 1) การปกปิดตัวตนของ LGBT หรือ 2) ความแปลกแยกของผู้อพยพในสังคมใหม่

ตัวผู้กำกับ Casarosa ก็พูดไว้เองว่าเขาไม่ได้คิดอะไรแบบนั้น (ผมดูแล้วก็ไม่รู้สึก คือรู้สึกว่ามันเป็นหนัง coming of age ใสๆ เรื่องการสร้างมิตรภาพของเด็กๆ) แต่เขาก็พูดไว้ดีว่า การตีความเป็นของผู้ชม ซึ่งเขาก็ยินดีรับการตีความรูปแบบต่างๆ

ป.ล. ดูหนังที่เป็นบรรยากาศเมืองเล็กๆ ริมทะเลของอิตาลี แล้วนึกถึงเรื่อง Only You หนังยุคแจ้งเกิดของ Robert Downey Jr. ที่ใช้ซีนริมทะเลอิตาลีเหมือนกัน (แต่เป็นเมือง Positano ทางตอนใต้ ส่วนริเวียร่าอยู่ตอนเหนือ)