ช่วงนี้กำลังดู The Witcher ซีรีส์บน Netflix อยู่ (ผมไม่เคยอ่านนิยายหรือเล่นเกมมาก่อน เกมน่ะมีครบทุกภาค ซื้อมาดองไว้และไม่ได้เล่น แฮ่) ดูจบซีซันแรกแล้วมาเขียนถึงไว้ก่อน
[คำเตือน: สปอยล์]
ถึงแม้ภาพลักษณ์ของ The Witcher คือดาร์คแฟนตาซี พ่อมด แม่มด เวทย์มนตร์ สัตว์ประหลาด สงคราม แต่แก่นแท้ของ The Witcher ต้องบอกว่ามันเป็น “หนังครอบครัว” ที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก 3 ตัวคือ Geralt (พ่อ) Yennifer (แม่) และ Ciri (ลูกสาว)
ครอบครัวนี้มีความ superficial กันตรงที่ไม่มีความผูกพันกันทางสายเลือด แต่มีความผูกพันกันด้านอื่น
อย่าง Geralt และ Yennifer มีความดึงดูดกันฉันหนุ่มสาวคู่อื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความซับซ้อน ตรงที่ทั้งสองคนเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ (คนละแบบ) ที่ไม่แก่เฒ่าง่ายๆ เหมือนมนุษย์ และในกรณีของ Yennifer ยังมีปมเรื่องการถูกตัดมดลูกออกไป ไม่สามารถมีลูกสร้างครอบครัวกับ Geralt ได้ (แม้ลึกๆ แล้วเธอฝันถึงเรื่องนี้)
ส่วน Geralt กับ Ciri ถูกเชื่อมต่อกันด้วยโชคชะตา (destiny ที่ในซีรีส์พูดคำนี้จนเฝือ) นั่นคือ Law of Surprise ธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม (ในเรื่อง) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นปมแกนกลางหลักของ The Witcher ภาคซีรีส์เลย
ถ้าอ้างอิงจาก The Witcher Fandom กฎ Law of Surprise กำหนดว่าคนที่ถูกช่วยชีวิต จะต้องตอบแทนผู้ช่วยชีวิตด้วยอะไรบางอย่าง ที่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ทราบว่ามีอยู่ (The Law dictates that a man saved by another is expected to offer to his savior a boon whose nature is unknown to one or both parties.)
พล็อตสำคัญของเรื่องอยู่ที่ Season 1 Episode 4 ที่อัศวิน Duny เคยช่วยชีวิตกษัตริย์ Roegner เอาไว้ แล้วกษัตริย์ก็สัญญาว่าจะตอบแทนด้วย “สิ่งที่เขามีอยู่ที่บ้านแต่เขาไม่รู้ว่ามีอยู่” (“whatever he had left at home without knowing or expecting it”) ซึ่งสุดท้ายแล้วคือลูกสาว เจ้าหญิง Pavetta
Duny นั้นไม่ต้องการลูกสาวของกษัตริย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป Pavetta โตขึ้น ทั้งสองคนหลงรักกัน แต่เมื่อแม่ พระราชินี Calanthe อยากให้ Pavetta ไปแต่งงานกับชายคนอื่นเพื่อผลในทางการเมือง ทำให้ Duny ต้องออกมาแสดงตัวและเรียกใช้ Law of Surprise อ้างสิทธิในตัวลูกสาวของ Roegner
ใน Episode 4 ยังมีการเรียกใช้กฎ Law of Surprise อีกครั้ง เพราะ Geralt เข้ามาช่วยชีวิตของ Duny จากพระราชินี Calanthe ที่ยังอิดออด เมื่อสุดท้ายแล้วพระราชินียอมให้ทั้งสองคนแต่งงานกัน Duny ขอชดเชยที่ Geralt ช่วยชีวิต ทำให้ Geralt ก็พูดติดตลกว่างั้นขอจ่ายเป็น Law of Surprise แล้วกัน ปรากฏว่า Pavetta ตั้งท้องเป็นลูกสาวพอดี (อ้วกโชว์ตอนนั้นเลย ยังกับละครไทย)
แกนหลักของ The Witcher จึงเป็นโชคชะตาที่ผูกพัน Geralt กับ Ciri ด้วยกันตั้งแต่ก่อน Ciri เกิด และเมื่ออาณาจักร Cintra โดนบุกทำลาย ทำให้ Geralt ต้องมาเรียกใช้กฎ Law of Surprise อีกครั้ง (แล้วตามหากันทั่วทั้งทวีป ใช้เวลาทั้งซีซันกว่าจะหากันจนเจอ)
สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่มาของ Law of Surprise ในโลกจริงๆ มาจากไหน ต้องย้อนไปดูว่านิยาย The Witcher แต่งโดยนักเขียนชาวโปแลนด์ Andrzej Sapkowski ซึ่งนำมาจากเรื่องเล่า นิทานของยุโรปตะวันออก แถบรัสเซีย โปแลนด์ ยูเครน ที่มีพื้นเพจากชาติพันธุ์สลาฟ (Slavic) นั่นเอง
เรื่องนี้มีอธิบายไว้ใน Reddit ของ The Witcher ซึ่งมีผู้ชมที่เป็นชาวโปแลนด์มาอธิบายไว้ เขาบอกว่าในย่านนั้นมีนิทานหลายเรื่องที่ใช้แกนของ Law of Surprise อันนี้ เช่น เรื่อง The Sea Tsar and Vasilisa the Wise ที่พระราชาจมน้ำและถูกช่วยไว้โดยสัตว์ประหลาดแห่งทะเล (Sea Tsar) โดยแลกกับสิ่งที่พระราชามีอยู่ที่บ้านแต่ไม่รู้ว่ามีอยู่ (ในที่นี้คือลูกชายเพิ่งเกิด)
กฎนี้มีคำเรียกเป็นภาษาโปลว่า Prawo niespodzianki แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Right of the Unexpected
กลับมาที่เรื่องซีรีส์ ข้อติของซีซัน 1 ที่คนอื่นวิจารณ์กันไปเยอะแล้ว คือ การเล่าเรื่องแบบ 3 เส้นเรื่องของ 3 ตัวละครหลัก ที่อยู่คนละช่วงเวลากัน (แถมตัดสลับไปมา) ทำให้ติดตามได้ยากจากการรับชมซีรีส์เพียงอย่างเดียว (บางเคสต้องตามไปอ่านในเน็ตถึงจะเข้าใจความหมาย)
แต่ปัญหานี้น่าจะน้อยลงในซีซัน 2 ที่เส้นเรื่องของ Geralt กับ Ciri มาเจอกันแล้ว และเวลาในซีรีส์เป็นเวลาปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว