in Games

Larger Than Life Game Sequels

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้เขียนข่าวเกี่ยวกับ “เบื้องหลัง” เกมภาคต่อของแฟรนไชส์เกมในตำนานหลายเกม และสังเกตเห็น “จุดร่วม” ที่เหมือนกันในการพัฒนาเกมแต่ละเกมที่ไม่ง่ายเลย

ยกตัวอย่างเนื้อหาส่วนที่สำคัญมา recap อีกครั้ง

[ลือ] Blizzard กำลังทำเกมยิงในจักรวาล StarCraft อีกครั้ง รอบนี้เป็นรอบที่สามแล้ว

ในยุค StarCraft รุ่งเรือง Blizzard เคยพัฒนาเกมยิงมุมมองบุคคลที่สามชื่อ StarCraft: Ghost ที่ถึงขั้นนำมาโชว์ในงาน E3 2005 แล้ว แต่ในปี 2006 โครงการถูกระงับไม่มีกำหนด และสุดท้ายถูกยกเลิกไป

เวลาผ่านมาอีกสิบกว่าปี ในปี 2019 เราเห็นข่าว Blizzard ยกเลิกเกมยิงบุคคลที่หนึ่งโค้ดเนม Ares ในจักรวาล StarCraft เพื่อหันไปโฟกัสกับการพัฒนาเกม Diablo IV และ Overwatch 2 แทน

ตอนนี้เกมทั้งสองออกขายเรียบร้อยแล้ว ดูเหมือนว่า Blizzard จะพยายามทำเกมยิงในจักรวาล StarCraft เป็นรอบที่สาม โดยมี Dan Hay อดีตหัวหน้าทีมพัฒนา Far Cry มาเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งเขาเคยดูแลโปรเจคเกม Odyssey ที่ถูกยกเลิกไปเมื่อต้นปี 2024

เบื้องหลัง Dragon Age: The Veilguard ความพยายามกู้ชื่อ BioWare หลังวิกฤตนาน 10 ปี

นับจาก Dragon Age ภาคล่าสุด ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สตูดิโอ BioWare เองประสบปัญหามากมาย จากเกมที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้ง Mass Effect Andromeda (2017) และ Anthem (2019) ดังนั้น Dragon Age: The Veilguard จึงเป็นความพยายามครั้งใหม่ของ BioWare ในการกู้ศรัทธาแฟนๆ กลับคืนมา

แต่เส้นทางของเกม Dragon Age 4 เองก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะตอนแรกมันถูกออกแบบมาเป็นเกมมัลติเพลเยอร์ (ตามกระแสฮิตในยุคนั้น ซึ่งรวมถึง Anthem ที่ BioWare ตั้งใจให้เป็นเกมยิงมัลติเพลเยอร์เช่นกัน) แต่สุดท้ายกระบวนการพัฒนาถูกรีเซ็ตในปี 2021 ให้กลับมาทำเกม RPG ออฟไลน์ที่ตัวเองถนัด เท่ากับว่าเกม The Veilguard ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 3 ปี

ในช่วงปี 2020-2021 สตูดิโอต้องตัดสินใจทิศทางของ Dragon Age 4 ว่าจะไปยังไงต่อ และได้ข้อสรุปว่าจะกลับมาทำเกมแฟนตาซีฮีโร่เล่นคนเดียวในจักรวาล Dragon Age เน้นการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม ตัวละครที่โดดเด่น ซึ่งเป็นรากเหง้าของสตูดิโอ ไม่ใช่เกมมัลติเพลเยอร์ ไม่ใช่เกมออนไลน์ ไม่ทำเงินจาก micro-transaction ตามสมัยนิยม

Valve เผยเหตุผลที่ไม่ได้ทำ Half-Life 2: Episode Three, โชว์ภาพคอนเซปต์เกมเป็นครั้งแรก

เหตุผลที่ Valve ตัดสินใจ “ยัง” ไม่ทำ Episode Three ต่อในตอนนั้น เพราะยังหาเนื้อเรื่องที่ดีพอสำหรับ Episode Three ไม่ได้ ข้อเสนอของทีมงานยังไม่ถูกใจ Gabe Newell ซีอีโอของ Valve เท่าไรนัก ฝั่งของทีมพัฒนาเองก็ไม่แน่ใจว่าเนื้อหาของ Episode Three ควรยาวแค่ไหน เพราะ Episode Two ยาวกว่า Episode One แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระยะเวลาพัฒนาที่ยาวนานกว่า

เมื่อความคาดหวังของ Episode Three ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ทีมงานยังไม่มีไอเดียที่ดีมากพอ บวกกับตอนนั้นโครงการ Left 4 Dead ต้องการทรัพยากรทั้งบริษัทไปช่วยกันทำให้เสร็จ ทีม Half-Life จึงต้องย้ายไปทำ Left 4 Dead แทน

หลังเสร็จ Left 4 Dead ทีมงานเกิดความรู้สึกว่ามันสายเกินไปแล้วสำหรับการกลับมาทำ Episode Three ต่อ รู้สึกว่าต้องทำเอนจินใหม่ (สุดท้ายกลายเป็น Source 2 ในปี 2015) และช่วงเวลานั้นเอง Valve ยังมีโครงการเกมอื่นๆ อย่าง Left 4 Dead 2, Portal 2 และกระแสเกมมัลติเพลเยอร์ที่มาแรง ทีม Half-Life จึงกระจายตัวไปทำโครงการเหล่านี้แทน ซึ่งพอมามองย้อนกลับไปตอนนี้ ทีมพัฒนาก็รู้สึกว่าตัดสินใจผิดไป ควรเดินหน้าต่ออีก 2 ปีเพื่อสร้าง Episode Three ให้เสร็จอยู่ดี

จะเห็นว่าสตูดิโอทั้ง 3 รายคือ Blizzard, BioWare และ Valve ซึ่งถือเป็นสตูดิโอระดับตำนาน มีเกมคลาสสิกขึ้นหิ้งที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญกับวงการเกมในอดีต แต่สตูดิโอระดับนี้ยังเจอกับปัญหา ไม่สามารถสร้างเกมภาคต่อได้ดีดังที่ตัวเองตั้งใจและแฟนๆ คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็น Blizzard ที่ไม่สามารถเข็นเกมยิง StarCraft ออกมาได้, BioWare ที่ติดหล่มตัวเองหายไป 10 ปี และ Valve ที่สะกดเลข 3 ไม่เป็นสักที

จุดร่วมของเรื่องราวเหล่านี้คือ สเกลของปัญหาที่มันใหญ่เกินไป ความคาดหวังของแฟนๆ ที่มันสูงเกินไป จนอยู่ในระดับที่แม้แต่ทีมงานขั้นเทพที่พิสูจน์ตัวเองมาเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่สามารถข้ามผ่านมันไปได้ง่ายนัก (นักพัฒนาเกมชื่อดังอีกคนที่เจอปัญหาเดียวกันนี้คือ Ken Levine ผู้กำกับและผู้สร้างเกมตระกูล BioShock ที่เจอปัญหาไอเดียหมดหลัง BioShock Infinite)

สารคดีของ Valve ที่เล่าเรื่อง Half-Life 2 Episode Three จึงเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ที่ทำให้เราเห็นเบื้องหลังจริงๆ ความคิดของทีมงานตัวจริงๆ ว่าเขาคิดอะไร เขาเจอปัญหาอะไรกัน เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็น Episode Three (รวมถึง Half-Life 3) กันจนถึงวันนี้