in Manga, Movies

Gundam: Requiem for Vengeance

Gundam แบบกราฟิก 3D เรื่องที่สอง ถัดจาก MS Igloo ยุคปี 2004 โน่นเลย (ห่างกัน 20 ปี คุณภาพ CG ดีขึ้นมาก) เนื้อเรื่องจับความเหตุการณ์ช่วงปลายสงคราม 1 ปี โดยเกิดก่อนยุทธการ Odessa ที่ฝ่ายสหพันธ์ตีโต้ ถล่มฐานของ Zeon ในยุโรปตะวันออก (Odessa ในยูเครน) 1 วัน

โดยแก่นเรื่องแล้วมันเป็นเรื่องทหารแตกทัพ โดนโจมตีฉับพลัน สู้แพ้ เพื่อนตาย ต้องมารวมตัวกับหน่วยอื่นๆ ที่ไม่รู้จักกัน ใช้ทรัพยากรเท่าที่มีเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ แล้วค่อยใส่ความเป็น Gundam มีหุ่นรบเข้ามา แต่ในภาค Requiem for Vengeance เปลี่ยนมาเล่าจากมุมมองของฝ่าย Zeon แทน

ตัวเอกของเรื่องคือ Iria Solari ทหารหญิงฝ่าย Zeon ที่เป็นหัวหน้าหน่วย Red Wolf ซึ่งเป็นทีมหุ่น Zaku II กำลังมาทำภารกิจในโรมาเนีย แต่กลับโดนหุ่นลึกลับ RX-78(G)E Gundam EX กันดั้มสีขาวตัวเดียวบุกมาถล่มทั้งกองทัพ (เป็นหนึ่งในยุทธการตีโต้ของสหพันธ์ช่วง Odessa) จนต้องหนีกันหัวซุกหัวซุน

ว่าแต่ช่วงสงคราม 1 ปี พวกสหพันธ์มีกันดั้มกี่ตัวกันแน่ พี่เล่นงอกมาได้เรื่อยๆ จนน่าจะครบกองพันแล้ว

คนที่ไม่เคยดู Gundam มาก่อนสามารถดูเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะโครงเรื่องทหารแตกทัพไม่มีอะไรซับซ้อน แต่หนังไม่อธิบายที่มาที่ไปของสงคราม 1 ปีเลย (เปิดเรื่องมาก็ใส่กันเลยไม่มีเกริ่น) ก็อาจต้องไปหาข้อมูลเพิ่มสักหน่อยว่าสองฝ่ายที่สู้กันเป็นใคร สู้กันไปทำไม

ซีรีส์เล่าอีกด้านของยุทธการ Odessa ซึ่งใน Gundam ภาคหลักเล่าผ่านมุมมองของยาน White Base ต่อสู้ที่ทะเลดำ จนเอาชนะกำลังหลักของฝ่าย Zeon ได้สำเร็จ สุดท้ายฝ่าย Zeon ต้องขึ้นยานหนีกลับไปยังอวกาศ เพื่อรอทำสงครามสุดท้ายกันในอวกาศที่ Side 3 ตอนจบเรื่อง

Requiem for Vengeance จับเอาเหตุการณ์ช่วงเดียวกัน แต่เป็นอีกสมรภูมิแทน เริ่มต้นที่หน่วยของ Solari พ่ายแพ้ที่โรมาเนีย ต้องหนีไปเรื่อยๆ สะสมซากหุ่น Zaku มาประกอบร่างกันใหม่เพื่อสู้ต่อ (ยังกับเลโก้) และปลายทางคือส่งทหารที่เหลือรอดกลับอวกาศให้ได้

สิ่งที่แปลกใหม่ในภาคนี้คือการกลับมุมมองให้ Gundam เป็นตัวร้าย (ในสายตาทหาร Zeon) หุ่นตัวเดียวไล่ถล่มทั้งกองทัพ แม้ว่าสุดท้ายพยายามบอกคนดู (แบบ cliche) ว่าสงครามไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ทุกคนพ่ายแพ้กันทั้งหมด

ผลงานการสร้าง Requiem for Vengeance เป็นฝรั่งผสมญี่ปุ่น โดยผู้กำกับและผู้เขียนบทเป็นฝรั่ง ร่วมกับสตูดิโอ Safehouse ของญี่ปุ่น ส่วนระบบกราฟิกใช้ Unreal Engine ด้วยนะ

สิ่งที่ภาคนี้ทำได้ดีคือกราฟิก โดยเฉพาะฉากสงคราม หุ่นรบ รถถัง ฯลฯ ทำได้ดีมาก ได้ vibe แบบสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป เก่า คลาสสิค หดหู่ แต่โมเดลของตัวละครที่เป็นคน ยังมีคุณภาพที่แกว่งไปมาตามแต่ละตัวละคร เช่น ตัวนางเอก Solari ทำได้สวยงาม แต่ตัวประกอบหลายๆ คนยังดูเหมือน CG ในเกมยุค 2000s ผมแข็งๆ ตาเบี้ยวๆ ดูแล้วสะดุดนิดหน่อย

ฝั่งของหุ่นที่ปรากฏตัวในเรื่อง นอกจาก Gundam Ex ที่เป็นหุ่นใหม่ (เวอร์ชันย่อยของ RX-78) ยังมีหุ่นมาตรฐานของสงคราม 1 ปี ออกมากันครบ ทั้ง Zaku, Gouf, GM แถมยังมีรถถังและเครื่องบินรบออกมากันเยอะมากด้วย

ประเด็นที่ถูกวิจารณ์เยอะคือการออกแบบตัวละครที่เห็นหลายความเห็นบอกว่า “woke” (ตามยุคสมัยนี้) คือตัวละครมี diversity สูง ผู้หญิง คนดำ เอเชีย และต้องมีผู้หญิงมีสีผม ตัวมีรอยสักด้วย ในความเห็นผมแล้วคิดว่าไม่ได้ตั้งใจ woke ขนาดนั้น แต่การออกแบบตัวละครนั้นดูมักง่ายไปหน่อย คือ เอา stereo type พื้นฐานมายำๆ รวมกัน (เช่น หมอที่ต่อต้านสงคราม รักทุกคนทุกฝ่าย, นายช่างคนดำพูดเก่งพูดมาก) ทำให้ตัวละครไม่มีมิติความลึกสักเท่าไร เหมือนกำลังดูหนังเกรด B อะไรประมาณนั้น

ให้คะแนนกราฟิก 8/10 และคะแนนตัวละคร 6/10

ซีรีส์ความยาว 6 ตอน ตอนละประมาณ 20 นาที สั้นดี ดูแปปเดียวก็จบแล้ว ถือว่านานๆ ทีได้ดู Gundam ฉบับตีความมุมมองใหม่ๆ ก็เพลินดีเหมือนกัน ฉายบน Netflix