รอบครึ่งปีที่ผ่านมา เริ่มเข้าสู่วงการ Fantasy Premier League (FPL) พอลงลึกเข้ามาเรื่อยๆ เราจะเจอตัวเลขสถิติที่สำคัญอยู่ 2 ตัวคือ Expected Goal (xG) และ ICT Index
ศึกษาเสร็จแล้วเลยมาจดเก็บไว้หน่อย เริ่มจากอันง่ายก่อนคือ ICT Index
ICT Index
ชื่อแบบนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเทคโนโลยี ICT แต่มันย่อมาจาก Influence, Creativity, Threat ซึ่งเป็นการวัดสถิติในเกมฟุตบอล
- Influence = การวัดความเกี่ยวข้องของผู้เล่นคนนั้นในเกม ทั้งการยิงประตู แอสซิสต์ การสกัดบอล หรือเซฟ
- Creativity = การสร้างโอกาสให้เพื่อน พูดง่ายๆ ว่าคนที่คะแนน Creativity สูงจะแอสซิสต์เยอะ
- Threat = โอกาสในการทำประตู ซึ่งนับรวมทั้งการยิงประตู และการยืนตำแหน่งของผู้เล่น
ICT Index เป็นตัวเลขที่ทาง Fantasy Premier League พัฒนาขึ้นมาใช้งานเอง (อ้างอิง) จึงอาจไม่มีดัชนีตัวนี้ในลีกอื่น
อย่าง Salah ในฤดูกาล 21-22 มีผลงานโดดเด่นมาก จึงไม่แปลกใจที่ ICT Index โดยรวมอยู่อันดับ 1 ของลีก และเป็นอันดับ 1 ทั้งค่า Influence และ Threat (ส่วนแชมป์ Creativity คือ Trent Alexander-Arnold ที่ทำแอสซิสต์สูงสุด)
Expected Goal
ส่วน Expected Goal หรือ xG เป็นสถิติที่ใช้กันในวงการฟุตบอลภาพรวม (ไม่ใช่แค่ Fantasy แต่ก็นิยมนำมาใช้ใน Fantasy ด้วย)
นิยามของ Expected Goal คือ โอกาสที่ผู้เล่น “ควรจะ” ทำประตูได้
xG ถูกคิดขึ้นเมื่อปี 2012 โดย Sam Green แห่งบริษัท Stats Perform ที่เก็บสถิติฟุตบอลของลีกต่างๆ ซึ่งใช้ทั้งในแง่การฝึกซ้อม สื่อใช้วิเคราะห์เกม หรือแม้แต่การพนัน (คนมักรู้จักในชื่อแบรนด์ Opta มากกว่า ลีก FPL ก็ใช้ข้อมูลจาก Opta)
6 – Tottenham have benefitted from six own goals in the Premier League this season – they are the first side since Swansea in 2013-14 (8) to benefit from as many in the same top-flight campaign. Gifted. pic.twitter.com/CO4OB9gr5I
— OptaJoe (@OptaJoe) March 20, 2022
ในอดีตนั้น เวลาเก็บสถิติเรื่องโอกาสยิงประตู เรามักนับจำนวนครั้งของการยิง (shot) แต่มันวัดได้เฉพาะเชิงจำนวน ไม่สามารถวัดเชิงคุณภาพได้ (ยิงไกลมากๆ 10 ครั้งก็ไม่มีประโยชน์อะไร)
Opta จึงนำปัจจัยอื่นๆ มาคำนวณเพิ่มเติม เช่น ระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับประตู, มุมที่มองเห็นประตู, รูปแบบการเล่น เช่น ลูกตั้งเตะ ฟรีคิก คอร์เนอร์ หรือลูกในเกมปกติ, วิธีการทำประตู เช่น เตะ โหม่ง ฯลฯ (ซึ่งสถิติเหล่านี้ Opta มีเก็บไว้ แต่ชาวบ้านปกติไม่มี) แล้วคำนวณออกมาด้วย regression model เป็นจำนวนประตูที่ผู้เล่นคนนั้น “ควรจะ” ยิงได้ (โพสต์ต้นฉบับของ Opta)
ตัวอย่างคือ ณ เวลาที่เขียนโพสต์นี้ Mohammed Salah ของ Liverpool ลงเล่นใน English Premier League ไปแล้ว 27 นัด มีค่า xG อยู่ที่ 21.48 ประตู (จากวิธีการเล่นในสนามของเขา) แต่ยิงได้จริง 20 ประตู เท่ากับว่า Salah นั้น underperform อยู่เล็กน้อยคือทำประตูได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น -1.48 ประตู (ค่านี้เรียกว่า difference หรือตัวย่อคือ dG ซึ่งยิ่งเป็นบวกเยอะยิ่งแปลว่าเก่งหรือโชคดี)
นอกจากนี้ยังมี Expected Assist (xA) ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้เล่นควรจะจ่ายลูกแอสซิสต์ได้ ในลักษณะเดียวกัน
เรายังสามารถนำตัวเลข xG ไปใช้งานต่อในลักษณะอื่นๆ ได้ เช่น นำไปหารกับจำนวนครั้งที่ยิง (xG/Shot) เพื่อดูโอกาสที่ใช้ไปว่าคุ้มค่าแค่ไหน
หรือจะดูค่า xG ของทั้งทีมก็ได้ ว่าทีมมีโอกาสทำประตูเยอะแค่ไหน แล้วทำได้จริงเท่าไร อย่างสถิติ ณ เวลาที่เขียน Man City มีค่า xG ที่ 69.29 ประตู ยิงได้จริง 68 ประตู เป็นต้น
ตัวอย่างค่า xG ของทีม ในนัด El Classico 2022 ที่บาร์ซ่าบุกไปอัดรีลมาดริดคาบ้าน 0-4 จากตัวเลขนี้จะเห็นว่าสกอร์ที่ควรจะเป็นคือ 1-4 แต่มาดริดอาจโชคร้าย ยิงลูกที่ควรยิงได้ไม่เข้า
https://twitter.com/xGPhilosophyEU/status/1505664898067488776
กล่าวโดยสรุปคือ ค่า xG เป็นวิธีการวิเคราะห์สถิติยุคใหม่ของโลกฟุตบอล ที่สามารถเก็บสถิติได้ละเอียดขึ้นมากๆ จากการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ทำให้วัดค่าความน่าจะเป็นในการทำประตูได้แม่นยำขึ้นมากนั่นเอง
ปัจจุบันค่า xG ถูกนำไปใช้ในการซ้อมหรือวิเคราะห์ผลการเล่นของทีมฟุตบอลเองด้วย อย่าง Jurgen Klopp เองก็เคยให้สัมภาษณ์เรื่อง xG ไว้หลายครั้ง
คำอธิบาย xG แบบยาวๆ อ่านได้จากบทความของ The Analyst ส่วนค่าตาราง xG สามารถลองดูได้จาก Understat หรือ FooyStats
เห็นมีคนเขียนเป็นหนังสือเลยด้วย แต่ก็ไม่เคยลองอ่านเหมือนกัน
https://twitter.com/xGPhilosophy/status/1193430106896773120