ในฐานะผู้อ่านนิยาย Dune ฉบับแปลไทยมาครบทั้ง 3 เล่ม (Dune, Dune Messiah, Children of Dune) เพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ Dune ฉบับปี 2021 ซึ่งเป็นครึ่งแรกของนิยายเล่มแรก โดย Part Two จะตามมาในช่วงต้นปี 2024
โครงการสร้างภาพยนตร์ Dune มีมานานแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เคยมีเวอร์ชันภาพยนตร์ปี 1984 และทีวีซีรีส์ในปี 2000 จนกระทั่งรอบล่าสุดนี้ได้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง Denis Villeneuve ที่ทำ Arrival และ Blade Runner 2049 ซึ่งได้ชื่อว่า “มือถึง” มารับผิดชอบ
Dune: Part One ทำออกมาได้สวยงามทั้งการถ่ายภาพ และการกำกับศิลป์ เราได้เห็นการออกแบบโลกในเรื่อง (ทั้งดาวแห่งน้ำ Caladan และดาวแห่งทราย Arrakis) ที่ลงรายละเอียดมากกว่าในหนังสือมาก โดยเฉพาะการออกแบบเมืองหลวง Arrakeen ที่เป็นนครศิลา ป้อมปราการในหุบเขา ที่ดูยิ่งใหญ่อลังการดีมาก (งานโปรดักชันออกแบบโดย Patrice Vermette ที่ร่วมงานกับ Villeneuve มาก่อน)
พล็อตหลักของ Dune เล่มหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างตระกูล Atreides กับตระกูล Harkonnen ที่เคยปกครองดาวเคราะห์ Dune มาก่อน ผ่านการใส่ไฟของจักรพรรดิ Shaddam IV แห่งตระกูล Corrino กลายเป็นสงครามสามฝ่ายที่สร้างความวุ่นวายให้จักรวาล
ในฐานะคนที่อ่านฉบับนิยายมาแล้ว รู้เรื่องหมดแล้ว จึงอยากรู้ว่าหนังมีวิธีเล่าเรื่องอย่างไร เพราะ Dune เป็นนิยายไซไฟที่เรียกได้ว่าเหมือนเป็นนิยายศาสนามากกว่า มีความซับซ้อนของจักรวาลในเรื่องสูงมาก มันคือนิยายการเมืองพ่วงศาสนา โดยมีไซไฟอวกาศเป็นฉากหลัง
วิธีการเล่าเรื่องของ Dune: Part One โฟกัสไปที่สมาชิกในตระกูล Atreides ที่ประกอบด้วยพ่อ Duke Leto ผู้นำตระกูล, แม่ Lady Jessica ซึ่งเป็นแม่ชีในนิกาย Bene Gesserit ศาสนาศักดิ์สิทธิ์ในเรื่อง และลูกชายวัยรุ่น Paul Atreides ผู้สืบทอดตระกูลเพียงคนเดียว (ในเรื่อง) โดยให้รายละเอียดของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูกชาย (ผ่านความเป็นผู้นำตระกูลใหญ่ที่มีความเป็นมายาวนาน) และแม่-ลูกชาย (ผ่านลัทธิและพิธีกรรมทางศาสนา) อยู่เยอะมาก
พล็อตสำคัญอีกอันของ Dune ตลอดทั้งไตรภาคหลักคือความเป็น messiah หรือ “พระมหาไถ่” ของ Paul Atreides ทั้งจากนิมิตของตัวเขาเอง และจากเรื่องเล่าของชาวเผ่าทะเลทราย Fremen ที่เราเห็นการบิ้วมาตลอดเรื่อง ซึ่งจะค่อยๆ ไปขมวดปมในไคลแมกซ์ตอน Part Two
เวลา 2.5 ชั่วโมงของ Dune Part One เป็นการปูพื้นเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ค่อนข้างดี แต่ด้วยความซับซ้อนของเรื่องมันจึงยังเล่าไม่จบ เส้นเรื่องยังเป็นแค่วิบากกรรมของ Paul และ Jessica ที่ต้องหนีภัยสงครามไปอาศัยอยู่กับเผ่า Fremen เท่านั้น
แม้ภาพรวมทำได้ออกมาดี แต่สิ่งที่ไม่ค่อยชอบใน Dune เวอร์ชันของ Villeneuve ก็มีอยู่บ้างเล็กน้อย
- หนังไม่ค่อยได้พูดถึงตระกูล Harkonen และ Corrino มากนัก (จักรพรรดิไม่ได้โผล่มาในเรื่องเลยด้วยซ้ำ) คนที่ไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อนอาจไม่ค่อยเข้าใจมากนักว่ารบกันไปทำไม
- ตัวละครของ Paul Atreides เป็นเด็กหนุ่มวัย coming of age อายุในเรื่องคือ 15 ปี แต่พอได้ Timothée Chalamet มารับบทนี้ เขาก็อายุยี่สิบกลางๆ แล้ว เลยวัยไปพอสมควร ระดับของความสับสนในสายตามันหายไปเยอะแล้ว
- ในทางกลับกันคือ คุณแม่ Jessica ดูสาวมาก สวยมาก 555
- นิมิตของ Paul มันเยอะเกินไปนิด เริ่มมากไปจนรำคาญ (แต่ในหนังสือก็เยอะแบบนี้จริงๆ)
การได้ดู Dune รอบนี้เลยทำให้มีโอกาสกลับมาอ่านเรื่องราวเบื้องหลังของ Dune เพิ่มเติม
- Frank Herbert ผู้เขียน ได้แรงบันดาลใจเรื่องทะเลทรายมาจาก Oregon Dunes ซึ่งเป็นทะเลทรายบริเวณชายฝั่งอเมริกา และได้แนวคิดเรื่องการปกครองทะเลทราย จากเรื่องเล่าของชาวเนทีฟอเมริกันที่รู้จักกัน (“white men are eating the earth”)
- ทะเลทรายในหนังใช้ Wadi Rum ที่จอร์แดน, โอเอซิสใน UAE และอาบูดาบี
- ส่วนไอเดียเรื่อง messiah นำมาจากเรื่อง Lawrence of Arabia และการต่อสู้ทางการเมืองนำมาจากหนังสือ The Sabres of Paradise ของ Lesley Blanch ที่เล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างเผ่ามุสลิมในเทือกเขาคอเคซัสกับการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิรัสเซีย
- Frank Herbert เริ่มอาชีพเป็นนักเขียน-นักข่าวมาก่อน นิยายไซไฟเรื่องยาวเรื่องแรกของเขาคือ The Dragon in the Sea ตีพิมพ์ปี 1955 หลังจากนั้นเขาใช้เวลาประมาณ 5 ปี ค้นคว้าและเขียนเรื่อง Dune โดยเริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในปี 1963 ส่วนฉบับรวมเล่มและแก้ไขแล้วตีพิมพ์ในปี 1965 ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพราะแปลกไป ผิดธรรมเนียมของนิยายไซไฟในยุคนั้น
- ชื่อเรียกต่างๆ ในเรื่อง โดยเฉพาะศัพท์ของชาว Fremen นำมาจากทั้งภาษาอารบิกจริงๆ, ศัพท์ที่ไม่มีจริงแต่ออกเสียงเหมือนภาษาอารบิก และศัพท์ในภาษาอื่นๆ อีกมาก เช่น รัสเซีย ละติน ดัทช์ สันสกฤต ตุรกี ฯลฯ ตัวอย่างคือ Bene Gesserit เอามาจากภาษาละติน, สภา Landsraad มาจากดัทช์ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความจริงจังในการค้นคว้าของ Frank Herbert เป็นอย่างดี และนิยายเลยดูสมจริงมากเมื่อเทียบกับยุคสมัย