เห็นเกม Death’s Door ตั้งแต่ช่วงขายใหม่ๆ แล้วประทับใจทันที เพราะสไตล์เกมเพลย์เหมือนกับ Zelda ยุค 2D ผสมผสานกับงานภาพที่ดูเป็นเอกลักษณ์ หลังจากนั้นจึงเฝ้ารอว่าเมื่อไรจะลดราคาเยอะๆ จะได้สอยมาเล่น (อีกเกมที่เล็งไว้คือ Tunic)
ช่วงปลายปี 2024 พบว่า Death’s Door บน Steam ลดจาก 400 บาท เหลือ 100 บาท แต่ก่อนซื้อเกิดอะไรดลใจไม่ทราบ ไปเปิดใน Google Play แล้วพบว่า Death’s Door เวอร์ชัน Android เล่นฟรีสำหรับสมาชิก Netflix เลยตัดสินใจประหยัด 100 บาท เล่นบน Android แทนแล้วกัน
เล่นๆ ไปสักพัก ก็พบว่าตัดสินใจผิดนิดหน่อย เพราะเวอร์ชัน Android จอเล็ก + บั๊กเยอะ แต่จะกลับไปเล่นเวอร์ชัน Steam ก็ไม่ทันแล้ว หมดเทศกาลลดราคาไปแล้ว ต้องเดินหน้าเล่นบน Android ต่อให้จบ ตอนนี้จบ 100% แล้วก็มาจดบันทึกไว้
Death’s Door พัฒนาโดยสตูดิโออินดี้ชื่อ Acid Nerve จากเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นสตูดิโอขนาดเล็กที่มีทีมงานแค่ 2 คน ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานเกมชื่อ Titan Souls ที่เป็นเกมแนว Shadow of the Colossus เวอร์ชัน 2D pixelate (เกม Death’s Door ใช้คนมากกว่านั้นหน่อยคือ 8 คน ซึ่งที่เหลือเป็นเอาท์ซอร์ส)
รูปแบบเกมเพลย์ของ Death’s Door เป็นเหมือน Zelda ภาคเก่าๆ ยุคมุมมอง 2D จากด้านบน เช่น A Link to the Past หรือ Link’s Awakening คือเป็นแอคชั่นแนวฟันดาบต่อสู้ สำรวจดันเจี้ยน ในโลกที่แผนที่ผืนใหญ่เชื่อมต่อกัน และมีปริศนาแอบซ่อนอยู่มากมาย
เนื้อเรื่องของเกมเป็นออริจินัลไม่เกี่ยวกับใคร เป็นเรื่องของ “อีกายมทูต” (Reaper Crow) ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานอีกา ที่ปกครองโดย “เทพแห่งประตู” (Lord of the Door) ให้ไปไล่จับวิญญาณสู่ปรโลก แล้วพาเข้า “ประตูมรณะ” (Death’s Door) ตามชื่อเกม
วิธีการเล่าเรื่องของเกมทำได้ดีมาก ค่อยๆ เฉลยพล็อตหลักออกมาทีละนิดๆ ตามร่องรอยระหว่างทาง มีพล็อตทวิสต์และฉากจบลับที่ต้องเล่นรอบสอง การออกแบบ setting โลกของเกมทำได้ดี (แม้ยังไม่กว้างใหญ่มากนัก) เล่นแล้วให้อารมณ์คล้าย Zelda อีกนั่นแหละ แต่พองานอาร์ทแตกต่างไปจาก Zelda พอสมควร ใช้สไตล์มืดหม่น โลกหลังความตายเป็นธีมหลัก เกมเลยมีลักษณะเฉพาะตัวที่เด่นมาก
ระบบคอมแบตในเกมไม่ซับซ้อนมากนัก มีอาวุธหลักเป็นดาบ และอาวุธยิงระยะไกลที่สลับไปมาได้ 4 อย่าง แต่หลักๆ ใช้ดาบฟันและการกลิ้งถอยหนีในจังหวะที่ถูกต้อง ผมแนะนำอย่างยิ่งให้เล่นเกมนี้ด้วยจอยแพด (เกมเวอร์ชัน Netflix รองรับเฉพาะการเชื่อมผ่าน Bluetooth เท่านั้น ไม่รองรับจอย USB) เพราะควบคุมง่ายกว่าปุ่มบนหน้าจอมาก
การออกแบบฉากและดันเจี้ยนทำได้ดี เป็นดันเจี้ยนผืนใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องกดเปิดทางหรือปลดล็อคบางสิ่งที่เดินเข้าโซนที่ไปไม่ถึงในตอนแรก จุดที่น่าสนใจคือเกมไม่มีแผนที่ในเกมให้ (คาดว่าตั้งใจให้เป็นอย่างนี้) ต้องอาศัยความคุ้นเคยกับโลกในเกมพอสมควร และการมีระบบประตูวาร์ป (ตามชื่อเกม) ช่วยให้การสำรวจโลกไม่โหดร้ายจนเกินไปนัก โลกในเกมยังมีความลับมากมาย มีของให้เก็บเยอะมาก คนที่ชอบสำรวจโลกในเกม (exploration) จะชอบเกมนี้
บอสในเกมมีขนาดใหญ่ ความยากพอประมาณ ผมใช้เวลาต่อสู้กับบอสประมาณ 4-5 รอบต่อตัว ในการสร้างความคุ้นเคยและจับจุดว่าต้องสู้กับบอสอย่างไร เรียกได้ว่า challenging คือไม่ง่ายจนเกินไป แต่ก็ไม่ถึงขนาด punishing ยากเกินไปจนท้อ หลักสำคัญคือต้องใจเย็นๆ สู้แล้วหลบ สู้แล้วหลบไปเรื่อยๆ แล้วจะชนะเอง (ให้ระดับความยากคิดว่าน้อยกว่าเกม Hollow Knight)
ข้อดีอีกอย่างของเกมนี้คือ มีคอนเทนต์หลังปราบบอสใหญ่ให้เล่นอีกเยอะพอสมควร (เยอะกว่าเกมทั่วไป) ดังนั้น ต่อให้ปราบบอสใหญ่ได้แล้ว เกมยังไม่จบลงจริงๆ เพราะเราต้องเล่นเก็บของให้ได้ 100% ก่อนถึงจะเห็นฉากจบที่แท้จริง ซึ่งการเก็บของ 100% นี่เป็นเรื่องยากมากจริงๆ เพราะเกมไม่มีตัวช่วยให้มากนักว่าอะไรอยู่ตรงไหน การอ่านคู่มือหรือ Walkthrough จึงจำเป็นมาก (ผมใช้ของ IGN เป็นหลัก แต่ก็มีบางจุดที่อาจยังไม่ละเอียดพอ สามารถอ่านคู่มือยี่ห้ออื่นประกอบได้)
โดยรวมแล้วถือว่าเป็นเกมที่ทำได้ดีมาก สำหรับค่ายอินดี้ที่มีแค่ไม่กี่คน ข้อเสียคือเกมยังขัดเกลาได้เพิ่มอีกหน่อย น่าจะสมบูรณ์ขึ้นกว่านี้มาก (การเล่าเรื่องเสริมหรือ lore ในเกมบางทียังไปไม่สุด) ถ้าให้คะแนนเวอร์ชันพีซีน่าจะสัก 9/10 แต่พอเป็นเวอร์ชัน Netflix/Android มีบั๊กจำนวนหนึ่งเลย (ตามสไตล์เกม Netflix) ขอหักเหลือ 8.5/10