in Football

5 Substitutes

หลังจากวิกฤตไวรัสเริ่มเบาลง ฟุตบอลกลับมาเตะอีกครั้ง วันเสาร์มีอะไรให้จดจ่อแล้ว!

บุนเดสลีกากลับมาเตะกันต่อ นักฟุตบอลคนแรกที่ยิงประตูได้หลังไวรัสคือ Erling Håland และ Dortmund ชนะคู่แค้น Schalke ถึง 4-0 ในสนามเปล่าที่ไร้คนดู

การกลับมาของฟุตบอลในยุคไวรัส มาพร้อมกับกฎใหม่ๆ เช่น ห้ามถุยน้ำลาย (ซึ่งทำไม่ได้จริง ถุยกันเป็นปกติ), ไม่จับมือกันก่อนลงสนาม, ตัวสำรองต้องนั่งห่างกันเป็นโยชน์ ฯลฯ

รวมถึงธรรมเนียมใหม่ๆ (ที่ไม่ใช่กฎ) อย่างการดีใจหลังยิงประตูได้ ก็ไปยืนเต้นอยู่ห่างๆ กัน หรือ การแสดงความขอบคุณแฟนๆ กับสแตนด์ว่าง

https://twitter.com/BlackYellow/status/1261693729573871618

มาตรการเหล่านี้คงค่อยๆ คลี่คลายลงไปเมื่อสถานการณ์ไวรัสดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ และน่าเก็บรักษาไว้ คือ กฎการเปลี่ยนตัวได้ 5 คน แทนที่จะเป็น 3 คน (แต่จำกัดการเปลี่ยนได้ 3 ครั้ง เพื่อป้องกันเกมสะดุด)

กฎข้อนี้มาจาก International Football Association Board (IFAB) โดยมีจุดหมายเพื่อรักษาสุขภาพของนักเตะ และเป็นกฎชั่วคราวที่มีผลไปถึงสิ้นปี 2020

เท่าที่ลองดูมา 1 เกมก็ไม่พบปัญหาอะไรเรื่องการเปลี่ยนตัว โดย Dortmund ใช้สิทธิเปลี่ยนไป 4 คน ส่วน Schalke ใช้สิทธิเต็มจำนวน 5 คน

ลองไปดูสถิติของเกมคู่อื่นๆ ในบุนเดสลีกา ก็พบว่าทีมอื่นใช้สิทธิเปลี่ยนตัวกัน 4-5 คนเกือบหมดเช่นกัน

ส่วนตัวสนับสนุนกฎนี้ให้อยู่ต่อไปถาวร เพราะมีข้อดีคือ

  • รักษาสุขภาพนักเตะ ไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป ถ้ามีเคสนักเตะเจ็บช่วงท้ายเกมก็ยังมีโอกาสให้เปลี่ยนตัวได้เพิ่ม (ถ้ายังใช้สิทธิเปลี่ยนไม่ครบโควต้า)
  • เปิดโอกาสให้นักเตะรุ่นใหม่ๆ ได้ลงสนามมากขึ้น เพิ่มอัตราเรื่อง rotation ในทีม เกิดดาราหน้าใหม่มากขึ้น ทีมขายเสื้อได้เพิ่ม ปั้นนักเตะได้เพิ่ม

ส่วนข้อเสียยังเห็นไม่ชัดในระยะสั้น ที่พอนึกออกคือ อาจทำให้ไดนามิกของเกมเปลี่ยนไปบ้าง (ประมาณว่าทีมมีตัวทีเด็ด ลงมาพลิกเกมได้เพิ่มขึ้น แต่ฟุตบอลสมัยนี้มันก็ไม่ได้เหมือนยุคซึบาสะแล้ว) กับเอื้อประโยชน์ให้ทีมใหญ่ที่มีตัวสำรองมากกว่า (แต่จาก 3 เป็น 5 มันก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก)

คิดว่าคงต้องลองให้กฎนี้ใช้ไปอีกสักระยะ และใช้ในทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ ที่มีการต่อเวลา (เช่น ฟุตบอลถ้วย, UCL, Europa League, Euro หรือฟุตบอลโลก) เพื่อทดสอบดูว่ามันจะมีผลต่อไดนามิกของเกมใหญ่ๆ แค่ไหน