มีสปอยล์เนื้อเรื่อง
3 Body Problem เป็นซีรีส์ไซไฟทาง Netflix ที่อำนวยการสร้างโดย David Benioff กับ D. B. Weiss อดีตสองคู่หูที่สร้างซีรีส์ Game of Thrones (แถมเป็นผลงานแรกหลังจากจบ Game of Thrones ด้วย เพราะไปทำอย่างอื่นแล้วล่มไปหลายโปรเจค) พ่วงด้วยสมาชิกคนที่สามคือ Alexander Woo ผู้เขียนบทซีรีส์ True Blood
ซีรีส์ 3 Body Problem ดัดแปลงมาจากนิยายไซไฟของจีนชื่อ The Three-Body Problem ของ Lui Cixin ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก (สังเกตว่าวิธีสะกดชื่อ 3 กับ Three จะต่างกันนิดหน่อย)
นิยายไตรภาคนี้มีแปลไทยในชื่อ “ดาวซานถี่” ซึ่งสำนักพิมพ์ Post Books เคยนำมาขาย แต่ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว ตัวผมเองก็ประมาทที่ตอนนั้นไม่ได้ซื้อเก็บไว้ พอตอนนี้คิดจะอ่านก็หมดหวัง (Post Books ยุติกิจการหนังสือเล่มไปแล้ว การพิมพ์ใหม่คงริบหรี่ ถ้าจะมีคงเป็นสำนักพิมพ์อื่นซื้อมาแปลใหม่เลย แบบเดียวกับ Dune เวอร์ชันแปลไทยล่าสุด) ทำให้ไม่เคยอ่านฉบับนิยายมาก่อน มาเริ่มที่ฉบับซีรีส์เลย
เนื้อเรื่องของซีซั่น 1 อิงจากนิยายเล่มไหน?
3 Body Problem หยิบจับเอานิยายเล่ม 1 มาดัดแปลงเป็นซีรีส์ความยาว 8 ตอน โดยนำเนื้อหาบางส่วนจากเล่ม 2-3 มาเสริมเล็กน้อย
ความคืบหน้าขณะที่เขียนคือ Netflix ยังไม่ได้อนุมัติการทำภาคต่ออย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนก็คงเดากันได้ว่ามีทำต่อแน่ๆ
David Benioff ผู้สร้างซีรีส์นี้ให้สัมภาษณ์กับ Collider ว่าความยาวทั้งหมดน่าจะมี 4 ซีซั่น โดยซีซั่น 1 อิงตามนิยายเล่ม 1, ซีซั่น 2 อิงตามนิยายเล่ม 2 ส่วนนิยายเล่ม 3 ที่มีความยาวมากกว่าเล่มอื่นๆ อาจต้องใช้ 2 ซีซั่นในการเล่าเรื่องทั้งหมด
“There are three books. The first season roughly follows the arc of the first book, and the second season would probably roughly follow the second book. The third book is massive. It’s twice as long, I think, as the other two books, so maybe that’s one season, maybe it’s two. But I think we’d need at least three, maybe four seasons to tell the whole story.
เนื้อเรื่องของ 3 Body Problem กล่าวถึงปรากฏการณ์แปลกๆ ของโลกที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำล้วนฆ่าตัวตาย โดยมีอาการร่วมกันคือ “เห็น” ตัวเลขนับถอยหลังปรากฏขึ้นในดวงตาแต่เพียงผู้เดียว เหล่าตัวเอกที่เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ จึงต้องร่วมมือกับอดีตตำรวจสอบสวนที่ทำคดีนี้ เพื่อค้นหาว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
จุดต่างของฉบับนิยายกับซีรีส์
จุดแตกต่างสำคัญระหว่างซีรีส์กับหนังสือ คือ การแตกตัวละครหลักที่ในหนังสือมีแค่คนเดียว ออกมาเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง 5 คนที่เรียนจบอ๊อกซ์ฟอร์ด และถูกเรียกว่า Oxford Five (Netflix ทำชาร์ทอธิบายผังความสัมพันธ์ตัวละคร แต่อาจสปอยล์เรื่องถ้ายังดูไม่จบ) โดยนำคาแรกเตอร์หรือบทบาทของตัวละครอื่นในเรื่องเข้ามาผสมเป็นตัวละครในกลุ่ม Oxford Five ด้วย
การที่เนื้อเรื่องหลักถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่ม Oxford Five ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน เคยเรียนมาด้วยกัน จึงมีเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครเพิ่มขึ้น (บางคู่มีโรแมนซ์กัน) ตามแนวทางการเล่าเรื่องแบบซีรีส์ทางทีวี ที่ต่างไปจากการเล่าเรื่องแบบนิยาย
ประเด็นเรื่องเชื้อชาติและสถานที่ในเรื่องยังต่างไปจากนิยายอย่างชัดเจน เพราะเนื้อหาในนิยายนั้น ตัวละครเป็นคนจีนแทบทั้งหมด เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองจีน ในขณะที่ฉบับซีรีส์ เปลี่ยนสถานที่มาเป็นอังกฤษ เหตุการณ์เกิดขึ้นในอ๊อกซฟอร์ดและลอนดอน โดยมีบางฉากที่อาจข้ามไปฝั่งอเมริกาบ้างแต่ก็ไม่เยอะ
ตัวละครกลุ่ม Oxford Five ยังมาด้วยธีม diversity หลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ มีทั้งคนขาวยุโรป คนดำ เอเชีย และละตินอเมริกา
แต่ก่อนที่จะดราม่ากัน ทางผู้สร้างประกาศไว้ชัดเจนว่าได้ปรึกษากับ Liu Cixin ผู้เขียนนิยายแล้ว และได้รับการสนับสนุนสำหรับการดัดแปลงนี้ จึงเป็นอันว่าจบดราม่าไป เพราะผู้เขียนเห็นชอบ
นอกจากตัวละครที่ถูกดัดแปลงไปมากแล้ว โครงเรื่องหลักๆ ยังคงเหมือนกัน นั่นคือเป็นเหตุการณ์ 2 ช่วงระหว่างยุคอดีต ปฏิวัติวัฒนธรรมจีน (Cultural Revolution) ที่โหดร้าย นำนักวิทยาศาสตร์ไปทำร้ายทรมาน และยุคปัจจุบัน โดยมีตัวละครสำคัญคือนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวจีน Ye Wenjie เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองยุค
บทวิจารณ์
เนื้อเรื่องของ 3 Body Problem ซีซัน 1 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ครึ่งแรก 5 ตอนที่เป็นบทนำ พาผู้ชมเข้าสังเกตปรากฏการณ์แปลกๆ ก่อนอธิบายว่าเป็นฝีมือของ “มนุษย์ต่างดาว” เผ่า San-Ti (เรียกตามภาษาจีน ตรงกับ Trisolarans คือเผ่าที่มีพระอาทิตย์สามดวง) ในดาราจักรที่อยู่ห่างออกไป ใช้เวลาอีกราว 400 ปีจึงเดินทางมาถึงโลก ส่วนอีก 3 ตอนสุดท้ายเป็นความพยายามของฝ่ายมนุษย์ที่พยายามรับมือกับมนุษย์ต่างดาว
หลังดูแล้วพบว่าครึ่งแรก 5 ตอนทำออกมาได้สนุกน่าติดตาม เพราะมีส่วนของความลึกลับ ไขปริศนาแบบนักสืบเข้ามาเยอะ การผสมผสานระหว่างการค้นหาปมการตายของนักวิทยาศาสตร์ ร่วมกับการเล่นเกมในโลก VR เพื่อหาคำตอบ ตัดสลับไปกับเหตุการณ์ในอดีตของ Ye Wenjie ทำออกมาได้ดี (สรุป Timeline แบบลำดับเวลาโดย Netflix)
ตัวละครที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ Ye Wenjie ในวัยสาว (แสดงโดย Zine Tseng) น่าประทับใจ เพราะเธอมีปมว่าพ่อถูกทำร้ายจนเสียชีวิตจากกลุ่ม Red Guard ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ตัวเธอเองในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ถูกจับเข้าค่ายแรงงาน แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ด้วยสถานะการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลจีนที่อยากทำโครงการลับ Red Coast ในการตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก
ชีวิตรันทดของ Ye Wenjie ชวนให้เราสงสาร แต่ในอีกด้าน ความแข็งแกร่งของเธอในฐานะนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีความรู้ทัดเทียมกับโลก พูดภาษาอังกฤษได้ ท่ามกลางความโบราณคร่ำครึของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็สร้างคอนทราสต์อย่างชัดเจน กลายเป็นคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น มีความลึกมาก ถึงขั้นทำให้ Ye Wenjie ดูด้อยลงไปอย่างมากเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน
อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของเรื่องกลับทำได้ไม่ดีนัก เมื่อฝ่ายมนุษย์ต่างดาวแสดงตัวต่อมนุษย์ทั่วโลกในตอนที่ 5 และเปิดเผยว่ามีคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ Sophon ถูกส่งเข้ามาแทรกซึมในโลกมนุษย์แล้ว ฝ่ายมนุษย์ผู้แตกตื่นก็หาวิธีรับมือกับมัน
แผนการของฝ่ายมนุษย์แตกเป็นสองทาง ฝ่ายแรกคือ องค์กรรับมือกับมนุษย์ต่างดาวที่นำโดย Thomas Wade รับข้อเสนอของตัวเอก Jin Cheng พัฒนายานอวกาศที่สามารถบินได้ 1/10 ของความเร็วแสง เพื่อไปสอดแนมกองยานของมนุษย์ต่างดาว (Staircase Project) ตรงนี้คิดว่ามันอธิบายรวบรัดไปหน่อยในเวลาเพียง 3 ตอน ทำให้เสียรายละเอียดไปพอสมควรว่าแผนการยานอันนี้มันทำงานอย่างไร คือเริ่มคิดกันแปปๆ เดียวก็ยิงยานขึ้นอวกาศไปแล้ว ส่วนเคมีของสองสาวผู้กู้โลก Jin Cheng กับ Augie ก็ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก (ทั้งที่ควรเป็นจุดที่ขยี้ได้ในเชิงบท) คิดว่าเป็นเพราะเวลาน้อยไป เลยไม่สามารถเสียเวลากับพัฒนาการตรงจุดนี้ได้ดีเท่าที่ควร
ส่วนอีกฝ่ายคือ UN ใช้หลักว่าคอมพิวเตอร์ของมนุษย์ต่างดาวไม่สามารถอ่านใจมนุษย์ได้ จึงคัดเลือกมนุษย์มา 3 คนเพื่อเป็น “ผู้คิดแผน” โดยไม่ต้องบอกใคร (wallfacers นำคำมาจากศาสนาพุทธของทิเบต) ตรงนี้นำเนื้อเรื่องมาจากนิยายเล่ม 2 แต่ก็ยังไม่มีพัฒนาการมากนัก ทิ้งท้ายไว้สำหรับต่อในซีซัน 2
ภาพรวมถือว่าทำได้ดี สนุก โปรดักชันลงทุนสูง อลังการ ดูแล้วอยากติดตามซีซันต่อไป (ไม่รู้อีกนานแค่ไหน) มีข้อติอย่างเดียวตรง 3 ตอนท้ายเร่งมากไป ให้คะแนน 8/10
ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากมันเป็นซีรีส์ไซไฟ จึงมีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาอ้างถึงในเรื่อง ที่สำคัญคือ
- Three-body Problem ทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่นำมาเป็นชื่อเรื่อง มันคือปัญหาแรงโน้มถ่วงของวัตถุ 3 ชิ้นตามหลักแรงโน้มถ่วงของนิวตัน ที่ไม่มีทางทำให้เสถียรได้ในเชิงทฤษฎีทั่วไป (general case) ต่างจากการมีวัตถุ 2 ชิ้น (two-body problem) ที่เกิดเสถียรภาพอย่างมาก และส่งผลให้ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่มักเป็นระบบดาวคู่ (binary star)
- ใครสนใจเรื่องนี้ ตามไปอ่านบทความอธิบายจากใน Vox อธิบายไว้เข้าใจง่ายดี
- Quantum Entanglement อธิบายหลักการทำงานของคอมพิวเตอร์ Sophon ว่าส่งคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เท่าโลก แล้วห่อเข้ามาในมิติอื่นให้ขนาดเล็กเหลือแค่ระดับโปรตอน เพื่อลดมวลลงให้น้อยพอที่จะยิงโปรตอนมาถึงโลกด้วยความเร็วแสงได้ก่อนกองยานที่มีกายภาพจริงๆ และเดินทางช้ากว่า จากนั้น อาศัยหลักการเปลี่ยนแปลงของคู่ควอนตัมที่อยู่ห่างไกลกัน เพื่อสื่อสารกลับไปยังมนุษย์ต่างดาวที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ทันที โดยไม่ต้องส่งข้อมูลกลับไปมา
- คำอธิบายแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ในเรื่อง
เกร็ดอื่นๆ
- หนังสือเล่มที่ถูกพูดถึงในช่วงต้นเรื่องคือ Silent Spring ซึ่งเป็นหนังสือชื่อดังปี 1962 ว่าด้วยผลกระทบของยาฆ่าแมลงกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อความคิดของ Mike Evans ในเรื่อง และส่งผลต่อพล็อตคำอธิบายตอนฉากจบซีซัน ในประเด็นว่าต่อให้มนุษย์คิดค้นยาฆ่าแมลงได้ แมลงก็ยังคงอยู่เต็มโลกไม่หายไปไหน
- ในตอนที่ 5 ช่วงที่เรือ Judgement Day แล่นผ่านคลองปานามา แล้วโดนฝ่ายตัวเอกดักซุ่มโจมตีด้วยเส้นใยนาโนไฟเบอร์ ก็เกิดคำถามในใจว่า “คลองปานามามันแคบขนาดนี้เลยเหรอ” ดูจบแล้วจึงลองไปค้นคำตอบดู พบว่ามันแคบแบบนั้นจริงๆ โดยส่วนที่แคบที่สุดของคลองปานามาเรียกว่า Culebra Cut เป็นการเจาะภูเขาเพื่อขุดเป็นคลอง
- ด้วยความสงสัยว่าซีนต่างๆ ถ่ายทำกันที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะฉาก Red Coast ในจีน เลยลองไปตามหาดู (ซึ่งไม่ได้คำตอบของซีนนี้) พบว่ามีเว็บ Filming Location รวบรวมไว้อย่างละเอียด
- ฉากย้อนอดีตปฏิวัติวัฒนธรรม ถ่ายในจีนไม่ได้ (แหงละ) จึงต้องเซ็ตฉากขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในโรงถ่ายที่อังกฤษ
- ป่าเขาในมองโกเลียใน ที่ Ye Wenjie ถูกนำไปเข้าค่ายใช้แรงงาน ก็อยู่ที่อังกฤษคือป่า Bourne Wood ใน Surrey
- ตึกดำ สำนักงานใหญ่ของหน่วยข่าวกรอง Strategic Intelligence Agency นั้นไม่มีอยู่จริง เป็น CG
- ที่จัดแสดงนิทรรศการ The Stars Our Destination ที่เปิดให้จ่ายเงินซื้อสิทธิความเป็นเจ้าของดาวฤกษ์ คือสนามฟุตบอล Tottenham Hotspur Stadium
- ฉากใน UN นั้นถ่ายทำที่ตึก UN ของจริงๆ ในนิวยอร์ก
- การที่ผู้สร้างซีรีส์ 3 Body Problem เป็นผู้สร้าง Game of Thrones ทำให้มีนักแสดงจาก Game of Thrones ตามมาด้วยหลายคน
- Jack Rooney ราชาขนมขบเคี้ยว เล่นโดย John Bradley ที่เคยรับบท Samwell Tarly พี่อ้วนคนดี เพื่อนสนิทของ Jon Snow
- Thomas Wade ผู้นำองค์กรต่อต้านมนุษย์ต่างดาว เล่นโดย Liam Cunningham ที่เคยรับบท Ser Davos Seaworth อัศวินหัวหอมผู้ตรงไปตรงมา ผู้รับใช้ตระกูล Stannis Baratheon
- Mike Evans ทายาทเศรษฐีน้ำมัน เล่นโดย Jonathan Pryce ที่เคยรับบทเป็นนักบวช High Sparrow ผู้กุมอำนาจในนครหลวง Red Keep