in Games

2nd Party Game Developers

คำศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายในวงการเกมคือ 1st Party ที่หมายถึงเกมที่พัฒนาโดยสตูดิโอในเครือเจ้าของแพลตฟอร์มเอง (เช่น Sony) และ 3rd Party เกมที่พัฒนาโดยบริษัทอื่น (เช่น EA)

คำถามที่มักถามกันบ่อยคือ แล้ว 2nd Party ล่ะ คืออะไร

คำตอบตามนิยามคือ บริษัทเกมที่ได้รับสัญญาว่าจ้างจากบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม ให้ทำเกมลงแพลตฟอร์มนั้นๆ เพียงแพลตฟอร์มเดียว (exclusive) โดยที่บริษัทผู้รับจ้างไม่ได้เป็นบริษัทในเครือ และจบโปรเจคไปแล้วก็อาจไปรับงานแพลตฟอร์มอื่นได้

คำถามถัดมาคือ ตัวอย่าง 2nd Party มีบริษัทใดบ้าง

หากเราดูจากชื่อ “เจ้าของแพลตฟอร์ม” ในปัจจุบัน เหลือแค่ 3 บริษัทคือ Microsoft, Sony, Nintendo ดังนั้นการเป็น 2nd Party จึงต้องมีความสัมพันธ์กับ 3 บริษัทนี้

Nintendo

เจ้าของแพลตฟอร์มที่โดดเด่นที่สุดเรื่อง 2nd Party หนีไม่พ้น Nintendo ที่นิยมใช้วิธีจ้างบริษัทภายนอก เข้ามาทำเกมแฟรนไชส์ของตัวเอง และตัวอย่างสตูดิโอ 2nd Party ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (ในแง่ผลงาน) แบบไร้ข้อกังขาคือ  Game Freak ผู้สร้างเกม Pokemon ตั้งแต่ภาคแรกสุด (ลองนึกถึงจำนวนครั้งที่โลโก้ Game Freak โผล่ขึ้นมาบนหน้าจอของผู้เล่นก็ได้)

Game Freak ก่อตั้งในปี 1989 ออกเกม Pokemon ภาคแรกในปี 1996 ซึ่งเกม Pokemon ทั้งหมดให้นินเทนโดจัดจำหน่าย โดยที่ Game Freak ยังถือเป็นบริษัทอิสระจนถึงทุกวันนี้ และยังมีการออกเกมอื่นนอกแพลตฟอร์มนินเทนโดอยู่บ้างประปราย เช่น Tembo the Badass Elephant (2015, Sega จัดจำหน่าย) หรือ Giga Wrecker (2017, จัดจำหน่ายโดย Rising Star Games)

อีกชื่อที่มีเอี่ยวกับซีรีส์ Pokemon มาคู่กัน คือ Creatures หรือชื่อเดิม Ape ซึ่งก่อตั้งในปี 1995 โดยสืบทอดตำนานมาจาก  Shigesato Itoi (ผู้สร้างเกม Mother/Earthbound) นอกจากการช่วย Game Freak ทำเกมแล้ว ยังมีผลงานเกมของตัวเองเดี่ยวๆ คือ Pokemon ภาคแยกต่างๆ และ Detective Pikachu

สตูดิโอที่มีสถานะคล้าย Game Freak คือ HAL Laboratory บริษัทเกมญี่ปุ่นรุ่นเก๋ากึ๊ก ก่อตั้งในปี 1980 และยังเป็นอิสระจนถึงทุกวันนี้ ชื่อบริษัทอาจไม่ดังนัก แต่ช่วยทำเกมดังหลายเกม เช่น ซีรีส์ Kirby, Super Smash Bros. สองภาคแรก และ Mother/Earthbound

  • Satoru Iwata ประธานนินเทนโดผู้ล่วงลับ ก็เคยทำงานที่ HAL ก่อนย้ายมาอยู่กับนินเทนโด
  • Masahiro Sakurai บิดาแห่งซีรีส์ Super Smash Bros. ก็เป็นลูกจ้าง HAL ก่อนแยกออกมาตั้งบริษัทเอง

อีกสตูดิโอ 2nd Party ชื่อดังคือ Rare ที่ทำเกมให้นินเทนโดในยุค 90s หลายเกม เช่น Donkey Kong Country, Killer Instinct, GoldenEye 007 โดยแลกกับนินเทนโดเข้ามาถือหุ้นเล็กน้อย แต่สุดท้ายความสัมพันธ์ก็จบลงเมื่อ Microsoft มาซื้อ Rare ในปี 2002

ในทางกลับกัน มีสตูดิโอ 2nd Party ที่นินเทนโดทำงานด้วย แล้วภายหลังไปซื้อกิจการมาเป็น 1st Party ตัวอย่างคือ Retro Studios ที่ทำซีรีส์ Metroid Prime (ตั้งบริษัทปี 1998, นินเทนโดซื้อหุ้นทั้งหมดปี 2002), Next Level Games ที่ทำซีรีส์ Mario Striker กับ Luigi’s Mansion (ตั้งบริษัทปี 2002, นินเทนโดซื้อปี 2021)

Sony

สตูดิโอในเครือข่ายของ Sony ที่เข้าข่าย 2nd Party ชัดเจนที่สุดคือ Insomniac Games ซึ่งทำเกมลง PlayStation นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1996 ตัวอย่างคือเกมซีรีส์ Spyro, Ratchet & Clank, Resistance หรือในยุคหลังๆ คือ Marvel’s Spider-Man

Insomniac ยังมีโอกาสไปทำเกมกับค่ายอื่นๆ บ้าง เช่น Sunset Overdrive (Microsoft) แต่สุดท้ายชะตาก็กลายมาเป็น 1st Party เต็มตัวหลัง Sony ซื้อกิจการในปี 2019

สตูดิโอที่มีสถานะคล้ายๆ กันคือ Sucker Punch Productions ที่ทำเกม Infamous ให้ PlayStation แล้วมาโดนซื้อในปี 2011 ก่อนกลับมาดังอีกรอบด้วย Ghost of Tsushima

Microsoft

แนวทางของไมโครซอฟท์นั้นเน้นซื้อขาดเลยซะมากกว่า (คนมันรวยช่วยไม่ได้) แต่ก็มีสตูดิโอที่อาจพอเข้าข่าย 2nd Party อยู่บ้าง เช่น Asobo Studio ที่ทำเกม ReCore กับ Flight Simulator เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสิทธิไปทำเกมแพลตฟอร์มอื่นด้วย เช่น A Plague Tale กับผู้จัดจำหน่ายรายอื่น